สะสม เหรียญกษาปณ์ เพื่อการลงทุน


เหรียญกษาปณ์ทองคำ รัชกาลที่ 4 แต้เม้งทงป้อ Tae Meng Tong Pao ตำลึงทอง
ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 4.5 ซ.ม. หนา 2 ม.ม. น้ำหนัก 60.8 กรัม

          นิยามคำว่า เก็บสะสม เหรียญกษาปณ์ มีความหมายกว้างมาก หมายถึง เหรียญที่ระลึก เหรียญกษาปณ์ หรือ เงินตรา ต่างๆ จากอดีตถึงปัจจุบัน มีมาช้านานมากกว่า 2,500 ปี ต่างชาติ ต่างยุค ต่างสมัย ต่างถิ่นกำเนิด มากมายเหลือคณานับ อย่างไรก็ดี หากจะเก็บสะสมกว้างๆ พบเหรียญฯ อะไร ประเทศไหน หากสวยถูกใจจำต้องเก็บ รับรองว่า จะหาความโดดเด่นอะไรไม่ได้เลย ยกตัวอย่าง เช่น หากนำเหรียญฯ ออกมาอวดโชว์ ปรากฏว่าเหรียญฯ นั้น ใครเขาก็มีกัน เราจะรู้สึกว่าเหรียญฯ ของเราไม่โดดเด่น ไม่เป็นที่น่าสนใจ แต่หากเหรียญฯ ที่นำออกมาอวดโชว์ นั้น ปรากฏว่า มีคนอยากดู อยากเห็น ขอชม นั่นแหละ แสดงว่า เหรียญฯ นั้น มีค่า คุ้มค่าต่อการสะสม จึงควรกำหนด และ ตัดสินใจให้ดี จะสะสมเหรียญกษาปณ์ในกลุ่มใด ประเภทไหน ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของแต่ละบุคคล จะเลือกสะสมเหรียญฯ ทองแดง บรอนซ์ เงิน หรือ ทองคำ ของประเทศใด ยุคไหน สมัยใด เหรียญกษาปณ์โบราณ เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน เหรียญที่ระลึก ฯลฯ

          ตัวอย่างมีให้เห็นมากมาย หลายคนสะสมเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน มีทุกรุ่น ทุกแบบ รวมแล้วเป็นปี๊บ หนักหลายร้อยกิโลกรัม หากประเมินราคา ได้ไม่เท่ากับผู้อื่น ที่มีเหรียญฯ เพียงหยิบมือ คือ มีเพียงไม่กี่เหรียญฯ ทว่าเป็นเหรียญฯ หายาก มีค่า ราคาสูง เป็นที่ต้องการของนักสะสม ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่คิดจะเก็บเหรียญฯ เพื่อการสะสม หรือ เพื่อการลงทุน ควรทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ดี การสะสม คือ การซื้อเวลา ส่วนราคาในอนาคต อยู่ที่จำนวน ความหายาก เป็นที่นิยมเสาะหา และ คุณภาพของตัวเหรียญฯ ปรากฏว่า เหล่านักสะสมมือใหม่ ได้เก็บสะสมเหรียญฯ ชื่นชอบมาช้านาน มีจำนวนมาก หากได้จำแนก แยกแยะ จะพบว่า บางเหรียญฯ มีราคาซื้อขายสูงมาก บางเหรียญฯ มีราคาซื้อขายไม่สูงนัก และ บางเหรียญฯ มีราคาซื้อขายไม่คุ้มกับเวลาที่ได้เสียไป

          นักสะสมทุกผู้ทุกนาม ไม่ว่าจะสะสมอะไร อื่นใดก็ตาม ย่อมมีความทะเยอทะยานอยากได้ชื่อว่า มีของ เป็นผู้ครอบครองของมีค่าหายาก ท่านผู้ใด หากมีฝันเช่นว่านี้ ต้องมี ความมุ่งมั่น ความเป็นเลิศ หมั่นศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ในกลุ่มเหรียญฯ ที่ตนสนใจ ตั้งใจสะสม เพียรพยายามเสาะหา ติดตามด้วยความสุขุม มีความละเอียดรอบคอบ ศึกษาเรียนรู้จากผู้รู้ ต้องได้เห็น และ ได้สำผัสเหรียญฯ แท้ ของจริง มีเอกสาร หนังสือ ตำรา และ คู่มือเหรียญฯ เพื่อเปรียบเทียบอ้างอิง จับผิด เพราะเหรียญฯ มีค่ามีราคา ย่อมมีของปลอมแปลง ตบตาหลอกขาย ข้อสำคัญ ข้อมูล ลักษณะจำเฉพาะของเหรียญฯ แท้ ตลอดจนภาพถ่ายที่ชัดเจนทั้งด้านหน้า (Obverse) ด้านหลัง (Reverse) และ ด้านข้างเหรียญฯ (Edge) รับรู้ ได้เห็นเหรียญปลอม ทำเทียม เลียนแบบ (Restruct)

          การสะสมเหรียญฯ มีมาช้านาน ตั้งแต่แรกเริ่มมีการผลิตเหรียญฯ จากหลักฐานทางโบราณคดี และ บันทึกทางประวัติศาสตร์ ชาวเมดิเดอเรเนียน และ โรมันโบราณ ชื่นชอบสะสมเหรียญฯ เพราะมีขนาดเล็ก เบา ง่ายต่อการจัดเก็บ จับตัองได้ ในรูปแบบศิลป์ประเภทหนึ่ง จากความเป็นของเก่า หายาก ที่ระลึก หรือ อนุสรณ์ ในโอกาสต่างๆ

          บันทึกในคริสต์ศัตวรรษ ที่หนึ่ง ของ Suetonius ใน De Vita Caesarum (The lives of twelve Caesars) พรรณนาว่า พระเจ้าออกุสตุสซีซ่า (Augustus Caesar) จักรพรรดิ์แห่งจักรวรรดิ์โรมัน มอบเหรียญฯ เก่า เหรียญฯ หายาก แก่พวกพ้อง ข้าราชสำนัก ในงานพระราชพิธี และ พระราชโอกาส ต่างๆ

          เมื่อก่อนโน้น ผู้ที่สะสมเหรียญกษาปณ์ล้วนเป็น กษัตริย์ ขุนนาง และ ชนชั้นสูง เท่านั้น ต่อมาเริ่มรับรู้ และ นิยมแพร่หลาย ในคริสต์ศัตวรรษที่สิบสี่ ยุคฟื้นฟูศิลปะ เรอเนซองค์ (Renaissance) นับว่ารุ่งเรืองมาก จากความคลั่งไคล้ หลงไหล ของเหล่าชนชั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแข่งขัน ประกวดประขัน ของเหล่ากษัตริย์ และ ราชินี ในยุโรป

          กวีชาวอิตาเลี่ยน นาม Petrarch เป็นนักสะสมเหรียญฯ โดดเด่น และ มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น เป็นผู้นำและเป็นต้นแบบ ให้เหล่ากษัตริย์ ขุนนาง และ ชนชั้นสูงจำนวนมากในยุโรป เอาอย่าง สะสมเหรียญโบราณ อาทิ พระสังฆราช Pope Boniface VIII พระจักรพรรดิ์ Emperor Maximillion I of the Holy Roman Empire, พระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ Louis XIV of France, พระเจ้า Ferdinand I of Spain and the Holy Roman Emperor, พระเจ้า Henry IV of France, และ Elector Joachim II of Brandenberg, ผู้ก่อตั้ง The Berlin Coin Cabinet (German: Munzkabinett Berlin). ฯลฯ ต่างแข่งผลิตเหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึกมีค่า ในรูปแบบงานศิลป์ชั้นสูง จึงจำกัดอยู่แต่ในกลุ่มผู้มั่งคั่ง และ ชนชั้นสูง เท่านั้น ที่เข้าถึงได้ ดังคำกล่าว ของเล่นพระราชา Hobby of Kings

          ช่วงคริสต์ศัตวรรษ ที่สิบเจ็ด และ สิบแปด เป็นยุครุ่งเรืองทางวิทยาการ ทำให้การสะสมเหรียญกษาปณ์ มี ระบบ ระเบียบ มาตรฐานรองรับ เกิดเป็นวิชา กษาปณ์วิทยา (Numismatics) ได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นกลาง ซึ่งไฝ่ที่จะยกฐานะ ภาพลักษณ์ ด้วยการเข้าร่วมสังคม สะสมเหรียญกษาปณ์

          ต่อมา ระหว่างคริสต์ศัตวรรษ ที่สิบเก้า และ ยี่สิบ การสะสมเหรียญกษาปณ์ ขยายตัวเป็นที่นิยม และ ชื่นชอบอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าเหรียญเก่าโบราณ เหรียญฯ ต่างประเทศ เหรียญหายาก ฯลฯ สถาบัน ชมรม สมาคม เกี่ยวข้องกับเหรียญกษาปณ์ เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด กิจกรรมงานแสดง เหรียญกษาปณ์เงินตรา มีให้ชมมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานสัมนาเหรียญกษาปณ์ สำหรับนักสะสม ครั้งแรกของโลก (The first International convention for coin collectors) เมื่อ วันที่ 15 - 18 สิงหาคม ค.ศ. 1962 ณ เมือง Detroit, Michigan. ร่วมกันจัดโดย American Numismatic Association กับ The Royal Canadian Numismatic Association มีผู้เข้าประชุมสัมนา กว่า 40,000 คน เป็นที่รับรู้ว่า งานสะสมเหรียญกษาปณ์ ยิ่งใหญ่กว่า งานอดิเรกอื่นใด King of Hobbies

          สมัยนี้ การเก็บสะสมเหรียญกษาปณ์ ถือเป็นสามัญ เป็นที่นิยมชื่นชอบของคนทั่วโลก เป็นสากล ไม่ว่าชนชาติไหน ศาสนาใด เพราะเหรียญกษาปณ์เป็นสื่อกลางเชื่อมโยง เศรษฐกิจ การเมือง และ ศิลปะ มาแต่โบราณ เหรียญฯ ที่ มีค่า หายาก ย่อมราคาแพง อยู่ในความครอบครอง ของพิพิธภัณฑ์ นักสะสมผู้มีความมั่งคั่ง ช่วงไหนเศรษฐกิจดี เงินเฟ้อสูง เหล่านักการเงินการธนาคาร และ เหล่าเศรษฐีผู้ร่ำรวยมั่งคั่งทั้งหลาย จะหันมาลงทุนเก็บสะสม เหรียญกษาปณ์ ศิลป์วัตถุ โบราณวัตถุ ของสะสมที่มีชื่อเสียงหายากอื่นๆ แทนการถือครองเงินสดส่วนเกิน หากเศรษฐกิจฝืดเคือง ชะลอตัว ถดถอย ผู้ที่เดือดร้อนจะทะยอยขายของมีค่า ของสะสม เพื่อพยุงเศรษฐกิจในครัวเรือน เกิดการซื้อขาย เปลี่ยนมือผู้ถือครอง เป็นโอกาสให้คนมีเงินเลือกซื้อ เก็บของมีค่าเพื่อการสะสม เพราะเงินสดเก็บไว้ไม่งอกเงย สวนทางกับของสะสม มีแต่จะเพิ่มค่าตามกาลเวลา สิ่งใดที่มีค่าหายาก เป็นที่ต้องการสูง ราคาก็จะสูงตาม

          ศึกษาได้จากการประมูลซื้อขายในห้องค้าต่างๆ ของ Christy's, Sotheby's, Phillips, Spink, Heritage Auctions, Stack's & Bower's ฯลฯ และ กลุ่มห้องค้าของ Classical Numismatic Group, Inc. และ Numis Bids บริษัทเหล่านี้ ล้วนมีห้องประมูล สาขาตามเมืองใหญ่ทั่วโลก ปัจจุบัน การประมูลซื้อขายมีมาก การเปลี่ยนมือ เปลี่ยนผู้ครอบครอง มีตลอดเวลา ปริมาณและราคาซื้อขาย เพิ่มสูงขึ้นทุกปี

          บริษัทประมูลซื้อขายเหล่านี้ ประกอบธุรกิจบนหลักการของกษาปณ์วิทยา (Numismatics) ดำเนินการ โดยผู้เชี่ยวชาญ มี ความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี โลหะวิทยา ฯลฯ บนวิถีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งนักสะสมชาวไทยอ่อนในเรื่องนี้ ขาดความเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบในเชิงวิทยาศาสตร์ จากห้องปฏิบัติการ (Laboratory) ยึดถือแต่ คำบอกเล่า ตำนาน พงศาวดาร ความเชื่องมงาย ฯลฯ นักสะสมเหรียญกษาปณ์ หรือ นักสะสมพระเครื่อง โบราณวัตถุ ฯลฯ ล้วนมีเครื่องมือตรวจสอบเพียงเล็นส์ขยายพกพา กำลังขยายไม่เกิน 10 เท่า ซึ่งเล็นส์ส่องขยายระดับนี้ เป็นเพียงเครื่องมือเบื้องต้นของมืออาชีพ


เล็นส์แบบพกพา กำลังขยาย 3 - 6 - 9 เท่า สำหรับส่องเหรียญกษาปณ์ เพชร พลอย พระเครื่อง ฯลฯ

          จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องรับรู้ และ เข้าใจขั้นตอนการตรวจสอบ ด้วยเครื่องมือตรวจวัดเพื่อพิสูจน์ทราบ เพื่อเปรียบเทียบ จับผิด กับเหรียญฯ ที่เป็นของแท้เสมอ

          การตรวจ เบื้องต้น

          โดยทั่วไป สัมผัสแรกจากตัวเหรียญฯ รูปแบบ ลวดลาย ถูกต้อง สี และ พื้นผิวไม่มีความแตกต่าง หากเป็นเหรียญฯ เงิน หรือ เหรียญฯ ทองคำ ต้องตรวจด้วย แม่เหล็กถาวร ถ้าดูดติด แสดงว่ามีเหล็กเจือปน จากนั้น เคาะเบาๆ ฟังเสียงกังวาน (Resonance frequency) ต้องใกล้เคียงเหรียญฯ แท้ หากเสียงทึบ หรือ เสียงต่างไปแสดงว่ามีโลหะอื่นผสม หากเข้าเกณฑ์ น่าสนใจ ลำดับต่อไป ตรวจดูรายละเอียดเบื้องต้นด้วย เล็นส์ กำลังขยายไม่เกิน 10 เท่า คือ เล็นส์ส่องพระ หรือ เล็นส์ส่องเพชรพลอย ส่องดูตามมุมขอบร่องลึก หาร่องรอยฟองอากาศ ตรวจดูขอบเหรียญฯ หารอยตะเข็บ รอยเชื่อมต่อ รอยตะไบ หากมีจะเป็นเหรียญฯ ปลอม หล่อจากการกดพิมพ์ดินเหนียว หรือ จากพิมพ์ปูนพลาสเตอร์ ตรวจดูด้านข้างรอบตัวเหรียญฯ (Edge) ถูกรีดเป็นรอยจักร ร่องเฟือง หรือ รีดพิมพ์ตัวอักษร ระยะห่าง ความเรียบร้อย เรียงเป็นระเบียบ ร่องรอยต้องชัดเจน มีระยะห่างระหว่างกันสม่ำเสมอ จากนั้นให้ส่องหาลายเส้นตำหนิต่างๆ แล้วจึงนำไปชั่งหาน้ำหนักด้วย เครื่องชั่งน้ำหนักดิจิตัล ตรวจดูด้านหน้า (หัว Obverse)(อเมริกันเรียกว่า Head) ด้านหลัง (ก้อย Reverse)(อเมริกันเรียกว่า Tail) ขอบเหรียญ (Rim) ซึ่งเป็นวงรอบ ขอบนอกของด้านหน้า และ ด้านหลังของตัวเหรียญฯ

          ภาพ หรือ อักขระ ด้านหน้า และ ด้านหลังของตัวเหรียญฯ หากหมุน หรือ พลิกดูจากขวาไปซ้าย หรือ จากซ้ายไปขวา ภาพตั้งตรงตามกัน เรียกว่า แกนเยื้องกัน 12 นาฬิกา (Die axis 12 o'clock) หากรูปภาพตั้งตรงทั้งสองด้าน แต่ส่วนบนของภาพด้านหลังทำมุมเฉไปทางขวา ประมาณ 45 องศา เรียกว่า แกนเยื้องกัน 2 นาฬิกา (Die axis 2 o'clock) หรือ 90 องศา เรียกว่า แกนเยื้องกัน 3 นาฬิกา (Die axis 3 o'clock) หากตั้งฉากสลับกัน เรียกว่า แกนเยื้องกัน 6 นาฬิกา (Die axis 6 o'clock) หรือ แกนทำมุมเยื้องกันกี่ .... นาฬิกา (Die axis ... o'clock)


เครื่องชั่งดิจิตัล 0 - 100 กรัม และ เวอร์เนียร์คาลิเปอร์ สำหรับวัดขนาด

          จากนั้น วัดหาขนาด ความกว้าง และ ความหนา ของตัวเหรียญฯ ด้วย เวอร์เนียร์คาลิเปอร์ (Vernir caliper) ชั่งน้ำหนักบนเครื่องชั่งดิจิตัล หน่วยน้ำหนักเป็นกรัม แล้วนำข้อมูล ตัวเลขต่างๆ เหล่านี้ ไปเปรียบเทียบกับข้อมูลจากตำราเหรียญฯ ผลที่ได้ย่อมเพียงพอที่จะวินิจฉัยเบื้องต้นว่า เหรียญฯ นี้ มีความน่าสนใจมากน้อยเพียงไร ถ้าเป็นเหรียญฯ ที่มีค่า ราคาแพง หรือ เหรียญฯ ที่มีข้อกังขา จำเป็นต้องตรวจด้วยเครื่องมือชนิดพิเศษ ที่มีความซับซ้อนกว่านี้

          เหรียญฯ ปลอม ส่วนใหญ่มักเป็นเหรียญฯ ยอดนิยม หายาก ราคาแพง ปั๊มจากแม่พิมพ์แกะแต่งลาย บ้างกอปปี้ สำเนาจากเหรียญฯ แท้ ลายเส้นมักตื้น ส่วนที่หนานูนจะบวม ลายเส้นบางๆจะเลือนไม่ชัดเจน สีผิวของโลหะและน้ำหนักผิดเพี้ยน หากเป็นเหรียญทองคำ ส่วนใหญ่จะชุบทองค่อนข้างหนามีเนื้อในเป็นตะกั่ว หรือ เนื้อในเป็นทังสะเต็น หุ้มด้วยแผ่นทองคำปั๊มขึ้นลาย พบเห็นได้จากการเสนอขายทั่วไปบนสื่ออินเตอร์เน็ต และ ร้านค้าจิวเวอรี่ ในรูปของเครื่องประดับ บรรจุอยู่ในลอคเก็ต จี้ห้อยคอ หุ้มกรอบทองคำค่อนข้างมิดชิด เพื่อกลบเกลื่อนปิดบังไม่ให้เห็นด้านข้าง (Edge) ของตัวเหรียญ บ้างก็ทำเป็นหัวแหวนประดับเหรียญโบราณ หุ้มกรอบรอบตัวเหรียญอย่างแน่นหนา หากมีผู้เสนอขาย พึงเดาไว้ก่อนว่า น่าจะเป็นเหรียญฯ ทำใหม่ (ปลอม)

          ปัจจุบันนี้ เหรียญฯ มีค่าหายาก คือ เหรียญฯ โบราณ (Ancient coins) หากสภาพสวยงาม สมบูรณ์เกินจริง อ้างมีเพียงหนึ่งเดียว (Unique) ไม่มีสอง พึงตระหนัก ! ให้มองในแง่ลบไว้ก่อน ต้องตรวจสอบเทียบเคียงกับภาพถ่าย ของสำนักกษาปณ์วิทยา หรือ พิพิธภัณฑ์ ที่มีเหรียญแบบนั้นๆ ส่วนเหรียญยอดนิยม หายาก ผลิตใหม่ เลียนแบบ หรือ ทำปลอม ผู้ขายจะบอกว่ามีเหรียญเดียวเพิ่งได้มา บางท่านอาจจะได้เคยพบเห็นมาก่อน จากต่างที่ ต่างโอกาส

          การตรวจ ขั้นสูง ด้วยเครื่องมือพิเศษ


กล้องจุลทัศน์แบบส่อง และ แบบสองตา Binocular Microscope กำลังขยาย 10 - 100 เท่า ตรวจสอบผิว เนื้อ ลายเส้น วัดระยะ บันทึกภาพขยาย

          นำเหรียญฯ มาตรวจด้านหน้า (Obverse) ด้านหลัง (Reverse) และ ด้านข้าง (Edge) โดยรอบ ด้วย กล้องขยายจุลทัศน์สองตา (Binocular Microscope) ขนาดกำลังขยายไม่เกิน 100 เท่า ตรวจดู พื้นผิว ลายเส้น วัดความตื้นลึก ระยะห่างระหว่างลายเส้น หากเป็นเครื่องที่สามารถต่อพ่วง เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อขยายบนจอภาพ หรือ กล้องถ่ายรูปดิจิตัล เพื่อบันทึก เก็บภาพ และ พิมพ์ออกมา เพื่อเปรียบเทียบกับภาพของเหรียญฯ แท้ จะได้ประโยชน์มาก ช่วยให้ง่ายต่อการ ตรวจสอบ เปรียบเทียบ จับผิด เส้นลาย กระบวนการผลิต ฯลฯ

          จากนั้น นำเหรียญฯ มาตรวจวัดความหนาแน่น เพื่อประเมินเนื้อใน เป็น โลหะชนิดเดียวกัน หรือ ยัดใส้โลหะต่างชนิด ด้วยเครื่อง อูลตร้าโซนิค (Ultrasonic thickness tester) หรือ เครื่องอ่านค่าความนำไฟฟ้า (Conductivity tester) ซึ่งเครื่องวัดความหนาแน่นดังกล่าวทั้งสองนี้ สามารถระบุความถ่วงจำเพาะของวัตถุ (Specific gravity)


เครื่องวัดความหนาแน่น Digital Conductivity และ เครื่องตรวจ X-ray Fluorescence Spectroscopy แบบพกพา

          หากต้องการความมั่นใจมากกว่านี้ ต้องใช้เครื่องตรวจหาองค์ประกอบ ส่วนผสมของโลหะในเหรียญฯ ชิ้นนั้นๆ ได้อย่างแม่นยำ ด้วยเครื่อง X-ray Fluorescence Spectroscopy ชื่อย่อ XRF เครื่องมาตรฐาน มี แบบตั้งโต๊ะ ราคาค่อนข้างสูง และ แบบพกพา ราคาย่อมเยากว่า ไม่ว่าเครื่อง XRF ระดับใด ส่วนใหญ่ใช้ในงานวิเคราะห์ วิจัย ระดับห้องปฏิบัติการ ใช้เพื่อแยกแยะ อ่านค่าองค์ประกอบที่เป็น อินทรีย์วัตถุ แร่ธาตุ หรือ โลหะ ของชิ้นงาน นั้นๆ ได้อย่างละเอียด แม่นยำ ระดับ PPM

          เครื่อง XRF มีราคาสูงมาก เกินความจำเป็น สำหรับ เราๆ ท่านๆ หากต้องการข้อมูลจำเพาะทางวิทยาศาสตร์ด้านโลหะวิทยา วัตถุใด หรือ เหรียญใด ก็สามารถนำไปขอตรวจได้ จากห้องปฏิบ้ติการ อัญมณี โลหะมีค่า ของทางการ หรือ เอกชนที่เปิดให้บริการ ออกใบกำกับรับรองคุณสมบัติวัตถุชิ้นนั้นๆ เป็น เปอร์เซ็นต์ หรือ PPM จากองค์ประกอบต่างๆ ที่ตรวจพบ

          เมื่อมีความเข้าใจขั้นตอนต่างๆ ข้างต้นดีแล้ว ต้องพิจารณาและสำรวจตนว่า มีความพร้อมในสิ่งที่สนใจ และ ชื่นชอบที่จะสะสมเหรียญกษาปณ์ในกลุ่มไหน ประเภทใด ผลิตจากโลหะ ทองแดง บรอนซ์ หรือ คูโปรนิเกิล ซึ่งกลุ่มนี้ มีมากหาง่าย พบเห็นได้ทั่วไป ส่วนโลหะ เงิน มีจำนวนน้อย และ มีน้อยมากๆ ค่อนข้างหายาก หากผลิตจากโลหะ ทองคำ

          เหรียญกษาปณ์ จาก ยุคโบราณ ถึง ปัจจุบัน มีกระบวนการผลิต 5 วิธี ดังนี้

(1.) ประทับตรา ด้วยการตอก ตีตราบนชิ้นโลหะด้วยฆ้อน Punch-Marked Coins
(2.) หล่อจากการกดลายบนพิมพ์ดินเหนียว หรือ ปูนพลาสเตอร์ Casting Coins
(3.) บุ ดุนลาย ด้วยแม่พิมพ์แกะลาย ด้านหน้าด้านเดียว ด้วยฆ้อน Bracteate Coins
(4.) ตอก ปั้ม ด้วยแม่พิมพ์แกะลาย สองด้าน มี ด้านหน้า (หัว) และ ด้านหลัง (ก้อย) ประกบบนล่างของตัวเหรียญเปล่า พร้อมกันด้วยฆ้อน Die Struck Coins
(5.) ปั้มขึ้นรูป ชิ้นโลหะ โดยบล๊อคแม่พิมพ์แกะลาย สองด้าน มี ด้านหน้า (หัว) ด้านหลัง (ก้อย) และ หรือ รีดขึ้นลายด้านข้างของเหรียญฯ ให้เกิด รอย เครื่องหมาย ตัวเลข หรือ ตัวอักษร ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ กระทำโดยเครื่องจักร Modern Machine Press Coins ดัง เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน เหรียญที่ระลึก ใช้กันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน

          เหรียญกษาปณ์โบราณ ที่นักสะสมรุ่นก่อนมักจะมองข้าม คือ กลุ่มเหรียญโลหะ บุ ดุนลาย ฝรั่งเศสเรียกว่า Repousse เยอรมันเรียกว่า Brakteat อังกฤษเรียกว่า Bracteate ยุคก่อน ส่วนใหญ่นิยมใช้ติด ประดับบนอาภรณ์ของชนชั้นสูง ผู้มั่งคั่ง ผู้มีอำนาจ ผู้นำ วีระบุรุษ เหล่ากษัตริย์ ฯลฯ พบในสุสาน หลุมศพโบราณ ส่วนมากเป็น เครื่องหมาย สัญลักญณ์ต่างๆ และ รูปสัตว์ ในมหาสถูป บรรจุพระบรมสารีริกธาติของพระพุทธเจ้า หรือ สถูปบรรจุธาตของเหล่าสาวก ต่างๆ มักมีเหรียญทองคำบุดุนลาย ดอกไม้ ดวงดาว ฯลฯ ปะปนอยู่กับเครื่องประดับ พลอย แก้ว แหวน เงินทอง อินเดียโบราณเรียก เหรียญบุดุนลาย Utpiditanka Mudra นักกษาปณ์วิทยาเรียก Single die punch coins

          เหรียญกษาปณ์ บุ ดุนลาย โบราณเหล่านี้ พบมากในประเทศ อิหร่าน ปากีสถาน อินเดีย โดยเฉพาะ บนสองฝั่งแม่น้ำ Oxus ในประเทศอาฟกานิสถาน ผลิตจากแผ่นทองคำ บุ ดุนลาย สัญลักษณ์ศาสนาโซโลแอสเตอร์ (Soloaster) ของชาวเปอร์เซียโบราณ มีพบบ้างในประเทศเมียนมา เป็นของอาณาจักรอาราคันโบราณ (Arakan) ปัจจุบัน คือ รัฐยะไข่ บุดุนลายจากแผ่นเงิน และ ในกลุ่ม ศรีเกษตร ฟูนัน

          เหรียญฯ บุ ดุนลาย ปลอมแปลงง่ายด้วย วิธี Electrotype


เหรียญทองคำ บุ ดุนลาย เปอร์เซียโบราณ พบใกล้แม่น้ำ Oxus


เหรียญทองคำ บุ ดุนลาย อักขระคุปตะ แคว้นโกศล Kosala อินเดียโบราณ


เหรียญเงิน บุ ดุนลาย อักขระสิทธรรม อาณาจักรอาราคัน รัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา


การผลิตเหรียญ ยุคโบราณด้วยแรงคน ตอกปั๊ม ตีตรา จากแม่แบบเหล็กแข็งแกะลาย

          เหรียญฯ โบราณไม่มีมาตรฐานการผลิต ส่วนผสมของเนื้อโลหะ และ ความบริสุทธิไม่สม่ำเสมอ เหรียญฯ แบบเดียวกันมีหลายพิมพ์ บ่อยครั้ง ตัวเหรียญ มี พิมพ์หน้า และ พิมพ์หลังสลับกัน บางเหรียญฯ ตอกจากแม่พิมพ์ที่มีความสึกกร่อนของพิมพ์หน้า และ พิมพ์หลังไม่เท่ากัน ด้านหน้าและด้านหลัง เยื้องเฉไม่ได้ศูนย์ ความชัดไม่เท่ากัน ทั้งที่ตอกจากแม่พิมพ์เดียวกัน จากความหนักเบาในการตอกด้วยมือ มีรอยเยินจากการตอกย้ำ ซ้ำๆ หลายครั้ง โดยเฉพาะเหรียญฯ ทองคำจะเห็นชัดเจน กระทั่งรอยเบียดเคลื่อนของเนื้อทองคำใกล้ขอบของตัวเหรียญฯ

          เหรียญฯ ปลอม ทำเทียม มีมาก คือ เหรียญฯ ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ เช่น ตะกั่ว ทองแดง บรอนซ์ และ เงิน

          ส่วนเหรียญฯ ปลอม ทำเทียม มีน้อยมาก คือ เหรียญทองคำ เพราะต้นทุนสูง ออกตัวยาก ตรวจจับผิดได้ง่าย

          เหรียญฯ โบราณปลอม ส่วนมาก มีความสวยงาม ด้านหน้า และ ด้านหลัง ของตัวเหรียญกลมได้ศูนย์ จากความตั้งใจปลอม เพื่อความสมบูรณ์แบบ ตัวอักขระชัดเจนเกินจริง รายละเอียด และ ลวดลายครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหรียญฯ บรอนซ์ ทองแดง และ เงิน มักแกะ หรือ กดแบบสร้างแม่พิมพ์จากเหรียญฯ แท้ แล้วนำมาตกแต่งลายเส้น เน้นให้ชัดเจน คมชัด ดั่งเหรียญไม่ผ่านการใช้งาน ต่างจากเหรียญฯ ทองคำโบราณฯ ปลอม ส่วนมากมักผิดเพี้ยน เนื่องจากเหรียญฯ ทองคำโบราณของแท้ มีจำนวนน้อย อยู่ในมือของผู้ครอบครองไม่กี่ราย การปลอมแปลงต้องคัดลอกจากภาพถ่าย เส้นสาย ลายเส้น มีขาด มีเกิน ไม่ละเอียดเท่า เนื่องจากไม่มีเหรียญฯ ทองคำของแท้เป็นแม่แบบ

          โดยเหตุที่ทองคำไม่ผุกร่อน จากสนิมอากาศ หรือ ความชื้นใดๆ ลายเส้นต่างๆ ของเหรียญฯ ทองคำโบราณยังคงอยู่ให้เห็นชัดเจน ทั้งที่ผ่านกาลเวลามานับพันปี การตรวจสอบเหรียญฯ ทองคำโบราณ จึงกระทำได้ง่ายกว่าเหรียญฯ ที่ผลิตจากโลหะอื่น เหรียญกษาปณ์ทองคำโบราณของแท้ มักมีรอยตำหนิ อาทิ รอยกัดด้วยฟัน จากการทดสอบความอ่อนของทองคำ บ้างมีรอยเจาะของเหล็กแหลม หรือ รอยตัดด้วยของมีคมตามขอบเหรียญฯ เพื่อดูเนื้อในของตัวเหรียญฯ จากผู้คนในสมัยนั้น ที่สำคัญ คือ เหรียญฯ ทองคำโบราณที่ไม่ผ่านการทำความสะอาด มักมีคราบเก่าเกาะบนผิว (Patina) จากคราบเหล่านี้บอกได้ว่า จมอยู่ในน้ำ ฝังอยู่ในดิน หรือ ฝังอยู่ในทราย เป็นเวลานานมากน้อยเพียงใด








เหรียญกษาปณ์เงิน 2 บาท รัชกาลที่ 4 กึ่งตำลึงเงิน
ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.8 ซ.ม. หนา 2 ม.ม. น้ำหนัก 30.15 กรัม



เหรียญกษาปณ์เงิน 1 บาท รัชกาลที่ 4
ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.2 ซ.ม. หนา 2 ม.ม. น้ำหนัก 14.89 กรัม


เหรียญกษาปณ์ทองคำ 1 บาท รัชกาลที่ 4


เหรียญกษาปณ์เงิน รัชกาลที่ 4 แต้เม้งทงป้อ Tae Meng Tong Pao ตำลึงเงิน
ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 4.5 ซ.ม. หนา 4 ม.ม. น้ำหนัก 60.84 กรัม





เหรียญกษาปณ์ โสฬส ผลิตจากประเทศอังกฤษ


เหรียญกษาปณ์ โสฬส พิมพ์นี้ อาจจะผลิตจากโรงกษาปณ์สิทธิการ หากผู้ใดมี.. ควรตรวจสอบความเป็นเหรียญฯ แท้ กับสำนักกษาปณ์ฯ กรมธนารักษ์


ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ ไพ

          เหรียญฯ มาตรฐาน คือ เหรียญฯ ที่ผลิตจากเครื่องจักร มีรูปแบบ ขนาด น้ำหนัก และ เนื้อโลหะ แน่นอน เพราะผลิตจากแม่พิมพ์เดียวกัน ตรวจสอบความแท้ ปลอม ได้ง่าย

          นักสะสมเหรียญฯ มือใหม่ ควรเริ่มต้นด้วยเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน สมัยใหม่ ผลิตจากเครื่องจักรมาตรฐาน ส่วนผู้ที่มีฐานะดี ต้องการถึงฝั่งฝัน ควรให้ความสนใจเหรียญกษาปณ์ทองคำ โดยเฉพาะเหรียญฯ เก่าหายาก เช่น เหรียญฯ ทองคำ ประเทศ สยาม รัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 เพราะนักสะสมเหรียญกษาปณ์ ทั้งไทย และ เทศ นิยมเสาะหา เนื่องจากเหรียญกษาปณ์ทองคำของสองรัชกาลนี้ ผลิตจำนวนน้อย มีค่า มีอนาคต ส่วนเหรียญฯ เงิน เหรียญฯ ทองแดง และ โลหะอื่นๆ ของสองรัชกาลนี้ ยังมีมากพอให้เสาะหาได้

          ในอดีต เหรียญฯ ปลอม ทำเทียม มีมาช้านาน ดังตัวอย่าง ต่อไปนี้ เหรียญฯ ปลอม คุณภาพสูง รุ่นเก่า ก่อนหน้านี้ นิยมแกะด้วยมือ ปั้มด้วยเครื่องสกรูอัดแรง หรือ เครื่องไฮโดรลิค


เหรียญกษาปณ์ทองคำ พระเจ้าขะนิสกะ อาณาจักรคุชชาน ม้า ปลอม สมบัติของ British Museum

          เหรียญกษาปณ์ทองคำ พระเจ้าขะนิสกะ อาณาจักรคุชชาน ม้า ของ British Museum, London. เลขที่ 783675001 ได้รับบริจาค จาก Col. Charles Seton Guthrie เมื่อปี ค.ศ. 1866 ที่ ประเทศอังกฤษ ทางพิพิธภ้ณสถานฯ ตรวจพบในภายหลังว่าเป็นเหรียญฯ ปลอม

          เหรียญกษาปณ์ทองคำ ภาพถัดไปนี้ เป็นเหรียญฯ แท้ พิจารณาตรวจสอบ เทียบเคียงให้ดี ระหว่างเหรียญฯ แท้ กับ เหรียญฯ ปลอม จะเห็นว่า เหรียญฯ ปลอม มี ขนาด ลายเส้น รูปทรง เส้นขอบ ตรงตามของจริง จากการถอดแบบ (mold) มี น้ำหนัก และ ลวดลาย ถูกต้องทุกประการ ผู้ผลิตตั้งใจให้มีความน่าสนใจ จึงมี ความสวยงามเรียบร้อย อักขระสมบูรณ์ครบถ้วน คมชัด เกินจริง แสดงว่า ตกแต่งแม่พิมพ์ให้มีคุณภาพเป็นเลิศ ประทับใจผู้พบเห็น ด้านหน้า และ ด้านหลังได้ศูนย์ ตัวเหรียญฯ สะอาด เรียบร้อย เพราะผ่านการรีด ขัดผิว จึงมีความหนาเสมอกัน เนื่องจาก ปั้มด้วยเครื่องอัดแรง แกนของแม่พิมพ์ส่วนที่เป็นด้านหัว และ ด้านก้อย ถูกยึดตรึงให้ตรงศูนย์ของแท่นปั้ม เหรียญฯ ที่ได้ จึงไม่เยื้องเฉหนีศูนย์ ปั้มกระแทกครั้งเดียว ไม่มีรอยเส้นซ้ำซ้อนจากการกระแทกหลายครั้ง ไม่มีรอยเยิน เบียดเคลื่อนของเนื้อทองใกล้ขอบของตัวเหรียญ สิ่งเหล่านี้ คือ จุดจับผิด ลักษณะความแตกต่างระหว่าง เหรียญโบราณแท้ กับ เหรียญปลอม ทำเทียม เลียนแบบ


เหรียญกษาปณ์ทองคำ พระเจ้าขะนิสกะ อาณาจักรคุชชาน ม้า เหรียญฯ แท้
ปี พ.ศ. 670-693 (ค.ศ. 127-150) น้าหนัก 8.21 กรัม เส้นผ่าศูนย์กลาง 18.7 มม. ด้านหน้า และ ด้านหลัง ทำมุมเยื้องกัน 10 นาฬิกา

เพื่อประโยชน์ การเรียนรู้

          ภาพเหรียญฯ แท้ นี้ แสดงที่ ขนาด 1,040 X 520 พิกเซล หากท่านต้องการเห็นภาพที่ชัดเจนกว่านี้ ให้ขยายหรือถ่างภาพ เพื่อขยายความคมชัดได้ ถึง 3,000 x 1,500 พิกเซล จะเห็นคุณสมบัติของเหรียญแท้ ประหนึ่งสัมผัสของจริง การขูดเกลี่ยพื้นผิว การขุดขีดลายเส้นต่างๆ เห็นได้อย่างเด่นชัด จากลักษณะของการแกะสลักแม่พิมพ์ด้วยมือ ของช่างแกะแม่พิมพ์เหรียญฯ สมัยโบราณ ด้วยเครื่องมือมีคม เพียงสิ่วปลายแหลมเล็ก สิ่งนี้คือ ความแตกต่างของแม่พิม์ที่แกะสลักจากสิ่วปลายแหลมด้วยมือ เปรียบเทียบกับ แม่พิมพ์แกะสลักจากเครื่องมือไฟฟ้าสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รอยพื้นผิว รอยขูดขีดเส้นบางๆ รอยซ้อนจากการตอกย้ำหลายครั้ง จากความหนักเบาของการตอกตี รอยเบียดเคลื่อนที่เป็นรอยคลื่น ของผิวทองตามขอบเหรียญ ความไม่สมดุลย์จากการวางแม่พิมพ์ด้านหน้าและด้านหลัง ทำให้เกิดการเยื้องเฉหนีศูนย์ ฯลฯ

          บังเกิดข้อฉงน ว่า ช่างฝีมือในสมัยโบราณใช้อะไร ขยายสายตาช่วยให้มองเห็นลายเส้นเล็กๆ เพื่อสร้างชิ้นงานขนาด 18 ม.ม. เล็กจิ๋ว เมื่อสองพันปีที่แล้ว .... เพราะการประดิษฐ์เล็นส์นูน ขยายภาพเพื่อการมองเห็น เพิ่งจะมีไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา


เหรียญกษาปณ์ทองคำ พระเจ้าขะนิสกะ อาณาจักรคุชชาน ม้า ปลอม สมบัติของ British Museum

          เหรียญกษาปณ์ทองคำ พระเจ้าขะนิสกะ อาณาจักรคุชชาน ม้า เหรียญที่สอง ของ British Museum, London. เลขที่ 783673001 ได้รับโอนมา จาก India Museum, Calcutta. ประเทศอินเดีย เมื่อปี ค.ศ. 1882 ซึ่งพิพิธภ้ณฑถานฯ ตรวจพบว่าเป็นเหรียญฯ ปลอมจากแม่พิมพ์เดียวกัน ดั่งเหรียญฯ ปลอมชิ้นแรก เลขที่ 783675001

          สมัยนี้ เทคโนโลยีพัฒนาไปไกลมาก ควบคุมด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ สามารถทำของใหม่ ปลอมแปลงได้ใกล้เคียงของจริง บ้างก็สวยเกินจริงมาก จำต้องทันเทคโนโลยี ด้วยการตรวจสอบด้วยเครื่องมือพิเศษ Binocular Microscope, Ultrasonic / Conductivity tester และ X-ray Fluorescence Spectroscopy ต้องยอมรับว่า ราคาซื้อขายเหรียญกษาปณ์ทุกวันนี้ มีราคาสูงมาก และ จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งจูงใจให้เหล่ามิจฉาชีพกล้าลงทุน ใช้เทคนิค Transfer die counterfeit ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพสูงมาก เหรียญที่ถูกทำขึ้นใหม่นี้ จะมีขนาด น้ำหนัก เหมือนของแท้ สัดส่วน ลายเส้น ความตื้นลึกหนาบาง ถอดแบบตรงตามเหรียญจริง เหมือนเหรียญต้นแบบทุกประการ ส่วนใหญ่จะนิยมปลอมเหรียญฯ ทองคำ และ เงิน รุ่นหายาก ราคาแพงมากๆ โดยเฉพาะ เหรียญที่ผลิตจากเครื่องจักร ดังตัวอย่าง เหรียญยุคสมัย Queen Victoria และ เหรียญดอลลาร์ประเทศจีน ยุคเริ่มต้นประชาธิปไตย ฯลฯ


ด้านหน้าของสองเหรียญนี้ มีรอยตำหนิ ขีดข่วนที่คอ และ เหนือตัว E ลักษณะ และ ตำแหน่งเดียวกัน จาก กระบวนการ Transfer die counterfeit รูปซ้าย คือเหรียญต้นแบบ ส่วนรูปขวาคือเหรียญ สำเนา Copy จับผิด ยากมาก !


ด้านหลังของสองเหรียญนี้ มีรอยตำหนิ ขีดข่วนกลางเหรียญ ลักษณะ และ ตำแหน่งเดียวกัน จาก กระบวนการ Transfer die counterfeit รูปซ้าย คือเหรียญต้นแบบ ส่วนรูปขวาคือเหรียญ สำเนา Copy จับผิด ยากมาก !



วงกลม เน้นให้เห็น รอยตำหนิ ขีดข่วนต่างๆ จะอยู่ตำแหน่งเดียวกัน กับ เหรียญต้นแบบ จับผิด เห็นได้ชัดมาก

          เนื่องจากกระบวนการ ถอดแบบ จะสำเนาทุกรายละเอียด ไม่ว่า รอยตำหนิ รอยขูดขีด หรือ รอยขนแมว จะถูกถ่ายทอดไปทุกกระเบียดนิ้ว งานนี้ต้อง จับผิดด้วยสายตา มองผ่านกล้องจุลทัศน์ หรือ ภาพถ่ายขยายใหญ่ กับ เหรียญที่ได้มาพร้อมกัน หรือ รุ่นเดียวกัน หาตำแหน่งเหมือนกันของ จุดตำหนิ รอยขูดขีด ฯลฯ หากพบตำหนิ อยู่ในตำแหน่ง และ ลักษณ์ตรงกัน ทุกเหรียญ แสดงว่า ปลอมจากเหรียญต้นแบบเดียวกันทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงทางการค้า มักถูกนำเสนอขาย ครั้งละหนึ่งเหรียญ หรือ หนึ่งเดียว ! เพื่อเลี่ยงการถูกจับผิด

          กระบวนการ Transfer die counterfeit คุณภาพของงานสูงกว่า การกัดด้วยเครื่อง CNC Computer Numerical Control จึงเป็นเทคนิคปลอมแปลงล่าสุดที่ยอดเยี่ยมมาก เก็บทุกรายละเอียด แม้แต่รอยขีดข่วนขนแมว เมื่อถูกจับผิดได้ง่ายดายเช่นนี้ แน่นอน ..... ผู้ปลอมแปลงจำต้องหาทางแก้ไข บรรจงลบรอยขูดขีดต่างๆ ด้วยมือ ทีละเหรียญ ให้ไร้ร่องรอย หรือ ร่องรอยต่างกัน มีตำหนิต่างตำแหน่งไม่ซ้ำกัน เมื่อนั้น จำต้องพึ่งพาเครื่อง X-ray Fluorescence Spectroscopy และ Microscopic Evaluation หรือ พึ่งพาบริการตรวจสอบ จาก บริษัท PCGS, NGC, ICG ... ช่วยตรวจสอบ ความเที่ยงแท้ (Coin Authentication) เพราะ ทุกวันนี้ กระบวนการปลอมแปลง เช่นว่านี้ พบมากในกลุ่มเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ยอดนิยม ส่วนใหญ่เป็นเหรียญกษาปณ์มีค่าหายาก ผลิตจากเครื่องจักร อายุหลัง ค.ศ. 1800 ของหลายประเทศใน อเมริกาเหนือ ยุโรป และ เอเชีย ถูกถอดแบบ ทำสำเนา ด้วยวิธีการ Transfer die counterfeit มากที่สุด

          ความเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องรู้วิทยาการ กระบวนการผลิต การถอดแบบ การขึ้นรูป

          เหรียญปลอมจากการถอดพิมพ์ ด้วยวัสดุที่มีพื้นผิวเนื้อละเอียด เนียน เช่น ดินเหนียว ยางพารา เรซิ่น ฯลฯ จับผิดที่ เส้นสายไม่คม ขาดตอนไม่ต่อเนื่อง พื้นผิวเป็นกระ รอยด่างเหมือนขี้กราก ลวดลายส่วนบนที่เป็นสันนูน และเส้นขอบของตัวเหรีญมักเลือน เกิดรอยเคลื่อนจากการถอดแบบพิมพ์ ออกจากชิ้นงานต้นแบบ

เหรียญปลอมจากการกัดด้วยเครื่องจักร ส่วนมาก ผลิตจากเครื่อง CNG Computer Numerical Control จากภาพต้นแบบในเครื่องคอมพิวเตอร์ เริ่มต้นกัดหยาบปาด ขึ้นรูปทรงด้วยดอกกัดขนาดใหญ่ .5 จากนั้น กัดด้วยดอกกัดขนาดเล็กลดหลั่นลง เพื่อเก็บรายละเอียดเส้นบางๆ หัวกัดของเครื่องจักร ทำการเจาะกัดพื้นผิวของชิ้นงาน เลือกได้สองลักษณะ คือ
ลักษณะที่ 1 กัด จากซ้ายไปขวา ขวาไปซ้าย หรือไปกลับทั้งซ้ายและขวา เหมือนเครื่องพิม์ปรินเตอร์ พิมพ์เอกสาร เลื่อนไปทีละบรรทัด จะทิ้งรอยเส้นขนานมีระยะห่างระหว่างกันทุกเส้นเท่ากัน
ลักษณะที่ 2 กัด เป็นวงกลม จากวงนอกเข้าใน หรือจากศูนย์กลางเป็นวงกลมออกไป เลื่อนไปทีละวง จะทิ้งรอยเส้นวงกลมขนานมีระยะห่างระหว่างกันทุกเส้นวงกลมเท่ากัน

การกัดด้วยเครื่องจักร แม้น เพียรพยายามเก็บงานขั้นสุดท้าย ขัดเกลาด้วยหัวกัดขนาดเล็กสุด .001 ก็ยังทิ้งร่องรอยลายเส้นขนานระดับไมครอน ให้ตรวจพบได้ด้วยกล้องจุลทัศน์ หรือ จะตรวจเบื้องต้นด้วยสายตา เพียงขยับชิ้นงานในแสงสว่าง จะเห็นความแตกต่าง

สำหรับนักสะสม วิธีจับผิด เหรียญแกะพิมพ์ด้วยมือ ให้ใช้กล้องส่องกำลังขยายสูงๆ ส่องเอียง เข้าไปดูตามร่องขอบรอยเส้นหนาๆ ทั้งหลาย ต้องมีเส้นซ้อน หลุมลึกตื้นขรุขระ หนาบาง ล้ำเข้าไปด้านในขอบของลายเส้นหนาเหล่านั้น ถ้ามีแสดงว่ามาจากแม่พิมพ์แกะด้วยมือ ถ้าไม่ปรากฏ หากมีแต่เส้นสายคม เรียบร้อย สม่ำเสมอ แทบไม่มีรอยขยะใดๆ กินลึกเข้าไปใต้แนวขอบเหล่านั้น ถือว่า เหรียญนี้ผลิตจากแม่พิมพ์แกะด้วยเครื่องจักร เพราะ หัวกัดของเครื่องจักรจะทำงานตั้งฉากที่ 90 องศา จึงไม่สามารถกัดเจาะ เซาะเอียงเข้าไปด้านข้างของชิ้นงาน

การปลอม จากการถอดพิมพ์ก็เช่นกัน ราบละเอียดไม่ครบถ้วน ไม่ชัดคม เพราะจะเกิดการเคลื่อนเบียด ขณะถอดพิมพ์จากแม่แบบ จึงจับผิด ตรวจสอบด้วยวิธีนี้ได้เช่นกัน


แม้นแก้ไข แกะ ตกแต่ง เพิ่มเติมลายเส้นที่สำคัญ เปลี่ยนแปลงขนาด เพิ่มให้โดดเด่น กลายเป็นส่วนเกิน สวยเกินจริง

ทุกวันนี้ เหรียญฯ มีค่า ราคาแพงต่างๆ ล้วนผ่านขั้นตอนเบื้องต้น ตรวจสอบ น้ำหนัก ค่าความถ่วงจำเพาะ ประเมินสภาพพื้นผิว สนิม สิ่งแปลกปลอม เทคนิคการผลิต และ สุดท้าย หาส่วนผสม องค์ประกอบ จำนวนของโลหะ ด้วย X-ray Fluorescence Spectrography ย่อมเป็นที่รับรู้กันทั่วว่า เหรียญฯ ที่มีชื่อเสียงทั้งหลายเหล่านั้น อยู่ในความครอบครองของผู้ใด จากสื่อ Internets

ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม จาก มืออาชีพผู้ทำธุรกิจรับตรวจสอบ ออกใบรับรองความจริงแท้ (Coin Authentication) ดังนี้

PCGS Professional Coin Grading Service.
NGC Numismatic Cuaranty Corporation .
ANACS American Numismatic Association Certification Service.
ICG Independent Coin Graders. และ ผู้อื่น ฯลฯ

          สำหรับนักสะสมเหรียญกษาปณ์ มือใหม่ หรือ ผู้เริ่มต้น พึงหลีกเลี่ยงเงินโบราณ เช่น เงินพดด้วง เงินกำไล เงินเจียง เงินฮาง เงินผักชี เงินทอก เงินฮ้อย พยู ฟูนัน ทวารวดี ศรีเกษตร ฯลฯ เพราะไม่มีมาตรฐาน ตรวจสอบยาก ไม่มีข้อมูลทางวิชาการให้ศึกษาอ้างอิง ปราศจากแคตตาล๊อค รายละเอียดและข้อมูลให้เปรียบเทียบอ้างอิงจับผิด ไม่เหมือนเหรียญฯ โบราณของประเทศทางซีกตะวันตก เกือบทุกประเทศล้วนมีสำนักกษาปณ์วิทยา ทำการศึกษาค้นคว้า จัดทำแคตตาล๊อค จำแนกรูปแบบ บล๊อคพิมพ์ของแต่ละยุค แต่ละสมัย แต่ละถิ่น เพื่อนักสะสม และ นักศึกษาได้ศึกษาเปรียบเทียบจับผิด จึงไม่แปลกที่เหรียญฯ โบราณยุคแรกๆ นานแสนนาน ของกรีก และ โรมัน สามารถบอกได้ว่าเป็นเหรียญฯ จากถิ่นใด แท้ หรือ ปลอม


เหรียญกษาปณ์เงินโบราณ อาณาจักรพยู หรือ ฟูนัน พบทั่วไปในประเทศ เมียนมา ไทย กัมพูชา และ เวียดนาม



เหรียญกษาปณ์เงินโบราณ อาณาจักรท่าทน หงสาวดี หรือ ทวารวดี พบทั่วไปในประเทศ เมียนมา และ ไทย

          เหรียญเงินโบราณไม่มีแม่พิมพ์ (Die) ที่แน่นอน พบเห็นได้ทั่วไป ยากที่จะแยกแยะ และ พิสูจน์ว่าเป็นเหรียญฯ แท้ หรือ เหรียญฯ ปลอม โดยทั่วไป เบื้องต้นสำหรับเหรียญเงิน ให้ใช้วิธีเคมี คือ ใช้ปากกาเคมีสำหรับตรวจ Gold Silver Platinum ที่มีขาย ป้ายที่พื้นผิวอ่านผลลัพธ์จากสีดำเข้ม ถ้าจะให้แน่ใจต้องป้ายซ้ำที่เดิมอีกครั้ง หากชิ้นงานนี้ชุบเงิน พื้นผิวเนื้อเงินที่ถูกชุบจะถูกเคมีของปากกากัดเข้าถึงเนื้อในของโลหะ ผลลัพธ์ของสีจะเปลี่ยนไป ถ้าสงสัยว่าเหรียญชุบหนาต้องป้ายซ้ำพื้นผิวที่เดิมหลายครั้ง หรือ จะใช้กรดดินปะสิว (Nitric acid) หยดที่พื้นผิว ดูสีที่เปลี่ยนไปเป็นสีแดงหรือแดงเข้ม บอกให้รู้ถึงเปอร์เซ็นต์เนื้อเงินแท้ หรือ มีโลหะอื่นผสม หากแดงเข้มมากๆ แสดงว่ามีโลหะอื่นผสมมาก ถึงออกเป็นสีเทา ถ้าออกสีฟ้าหรือสีเขียวแสดงว่าเนื้อเงินผสมทองแดง เหรียญเงินโบราณปลอม ส่วนใหญ่ล้วนใช้เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนปัจจุบัน ซึ่งเป็นคูโปรนิเกิล คือ มีทองแดง 75% นิเกิล 25% นำไปหลอม รีดตีให้บาง จากนั้นตอก หรือ ปั้มด้วยแม่พิมพ์ หากทดสอบด้วยกรดดินปะสิวจะออกสีน้ำเงิน

          สำหรับเหรียญทองคำ ตรวจด้วยกรดดินปะสิว หากเกิดฟองเดือดปุดๆ เป็นสีเขียว หรือ สีเหลืองแสดงว่า ทองคำมีโลหะอื่นผสมอยู่มาก หรือ อาจจะเป็นทองชุบ แต่ถ้าไม่ปรากฏฟองปุดๆ หรือปฏิกิริยาใดๆ แสดงว่าเป็นทองคำแท้ การนี้ ถ้าเชื่อแน่ว่าเป็นเหรียญทองคำมีค่า ไม่สมควรตรวจสอบด้วยกรด ห้ามเด็ดขาด เพราะกรดจะทำอันตรายต่อพื้นผิวของตัวเหรียญฯ ควรตรวจสอบ ด้วยเครื่อง XRF (X-ray Fluorescence Spectroscopy) เพื่ออ่านจำนวนส่วนผสม และ องค์ประกอบของโมเลกุลของเนื้อโลหะ ที่สะท้อนแสงจากผิวโลหะนั้น บอกเปอร์เซ็นต์ หรือ PPM ของทองคำ ทองแดง หากกะไหล่ หรือ ทองชุบ จะแสดงค่าของโลหะ อื่นๆ ตามมามากมาย แต่ก็มีข้อจำกัด คือ ไม่สามารถอ่านทะลุเข้าถึงเนื้อในของตัวเหรียญฯ ได้ ต้องใช้ Digital Conductivity หรือ Ultrasonic thickness tester ตรวจอ่านหาค่าความถ่วงจำเพาะ ว่า เนื้อโลหะภายในกับเนื้อโลหะผิวภายนอก เป็นชนิดเดียวกัน เพื่อจับผิดเหรียญฯ ยัดใส้หุ้มด้วยแผ่นโลหะมีค่า


เหรียญกษาปณ์เงิน Punch-marked แคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิศาล - อะชาติศัตรู สมัยพุทธกาล ประเทศอินเดีย


เหรียญกษาปณ์เงิน Punch-marked ราชวงศ์โมรียะ สมัยพระเจ้าอโศก ประเทศอินเดีย


เหรียญกษาปณ์เงินฝังอยู่ในดินกว่าสองพันปี เมื่อแรกขุดพบถูกหุ้มด้วยสนิมขียวและสนิมแดงเป็นก้อนหนาเตอะ


เหรียญกษาปณ์เงิน Punch-marked แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย ฝนให้เห็นเนื้อเงินติดสนิมเขียวและสนิมแดง

          ตัวอย่าง เพื่อการศึกษา

          เหรียญฯ เงินโบราณ สมัยพุทธกาลจากแคว้นมคธ อินเดีย เรียกว่า Janapadas ฝรั่งเรียกว่า Punch-marked คือ เหรียญฯ ตอก ตีตราด้วยมือ หารูปแบบที่แน่นอนไม่ได้ อย่างไรก็ดี หากเป็นโลหะสีขาวได้ตรวจ และ แน่ใจว่าเป็นโลหะเงิน ต้องพิจารณาส่องกล้องตรวจรอยตราประทับ รูปแบบ พื้นผิว ขอบร่องรอยรูปเครื่องหมาย ต่างๆ

          เหรียญโลหะอายุ 2,500 ปี ต้องไร้ความคมตามมุมขอบ จากสภาพกาลเวลาทางเคมี ฝังอยู่ในดิน ทราย หรือ เก็บในหม้อไหดินเผา ย่อมไม่พ้นความชื้น ซึ่งเป็นกรดอ่อนๆ โดยธรรมชาติโลหะเงินเมื่อถูกอากาศและความชื้น จะขึ้นผิวสีดำ ยิ่งนานวันผิวจะยิ่งดำเข้ม หากถูกฝังดินนานกว่า 1,000 ปี จะเกิดสนิมสีเขียวเข้มเกาะผิวหนาเตอะและแข็งมาก ถ้ามากกว่า 2,000 ปี จะมีสนิมสีแดงมันปูเกาะปะปนสนิมสีเขียวเข้ม ดังภาพที่ได้นำเสนอข้างต้น



เหรียญกษาปณ์ทองแดง พระเจ้าขะนิสกะ อาณาจักรคุชชาน ประเทศอินเดีย พระพุทธเจ้า SAKAMANO BOYDO อายุ 2,000 ปี เนื้อทองแดงติดสนิมเขียวและแดง

          เหรียญโลหะทองแดงหากถูกฝังดินนานกว่า 1,000 ปี จะเกิดสนิมแดงและสนิมเขียวเข้มเกาะหุ้มผิว แข็งแน่นหนาเตอะ


เหรียญกษาปณ์ทองคำ ขัดเงา ประเทศอินเดีย 2 โมเฮอร์ ยุคอาณานิคมอังกฤษ ผลิตใหม่ทำซ้ำจากแม่พิมพ์เดิมเคยใช้ผลิตเหรียญฯ ทองคำ


เหรียญกษาปณ์ทองคำ ขัดเงา ประเทศอินเดีย 1 รูปี ยุคอาณานิคมอังกฤษ ผลิตใหม่ทำซ้ำจากแม่พิมพ์เดิมเคยใช้ผลิตเหรียญฯ เงิน


เหรียญกษาปณ์ทองคำ ขัดเงา ประเทศอินเดีย 1/2 รูปี ยุคอาณานิคมอังกฤษ ผลิตใหม่ทำซ้ำจากแม่พิมพ์เดิมเคยใช้ผลิตเหรียญฯ เงิน


เหรียญกษาปณ์ทองคำ ขัดเงา ประเทศศรีลังกา 5 เซ็นท์ ยุคอาณานิคมอังกฤษ ผลิตใหม่ทำซ้ำจากแม่พิมพ์เดิมเคยใช้ผลิตเหรียญฯ ทองแดง

          สิ่งหนึ่งพึงเข้าใจ อย่าได้มองข้ามประเทศที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคม ผลิตเหรียญกษาปณ์ใช้ในเขตอาณานิคมของตน เป็นผู้เก็บรักษาแม่พิมพ์เหรียญฯ เดิมเหล่านั้น มีให้พบเห็นบ่อยครั้ง เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนในยุคอาณานิคมบางประเทศ เช่น คิวบา โบริเวีย เม็กซิโก ศรีลังกา อินเดีย และ อดีตประเทศมหาอำนาจ เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สเปน ออสเตรีย ฮังการี่ ถูกผลิตทำซ้ำ (Restruck) ใช้แม่พิมพ์เดิม ปั้มเหรียญใหม่ทำจากโลหะ เงิน หรือ ทองคำ ขัดเงา คมชัด ระดับ Proof coins ซี่งบางประเทศจะทำเครื่องหมาย ตอกตัวอักษร R ที่ด้านข้างของตัวเหรียญ หรือ ประเทศสเปน จะตอก ค.ศ. ที่ผลิตใหม่นี้ เป็นตัวเลขจิ๋ว กำกับเหรียญฯ นั้นๆ สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการผลิตจำนวนจำกัด กำกับรับรอง เพื่อให้ทรงคุณค่าด้วยเอกสารรับรอง (Certificate) ซื้อขายในตลาดด้วยราคาสูง ทั้งที่เหรียญฯ เดิม พิมพ์เดียวกันนี้ ในอดีต ได้เคยผลิตจากโลหะ เงิน หรือ ทองแดง ใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมาช้านาน


เหรียญกษาปณ์ เงิน และ ทอง โบราณ กอปปี้ด้วยวิธี Electrotype จาก British Museum, London และ Etienne Bourgery, Paris.


เหรียญกษาปณ์ทองคำ พระเจ้าขะนิสกะ อาณาจักรคุชชาน พระพุทธเจ้า BODDO ของ British Museum AN783671001


เหรียญกษาปณ์ทองคำ พระเจ้าขะนิสกะ อาณาจักรคุชชาน พระพุทธเจ้า BODDO กอปปี้ ด้วยวิธี Electrotype จาก British Museum

          การนี้ หากมองในแง่วิชาการด้านกษาปณ์วิทยาย่อมเป็นการดี เพราะเหรียญฯ โบราณ เก่าแก่ของแท้มีค่า ย่อมหาดูได้ยาก การเข้าถึงได้สัมผัสของจริง ย่อมเป็นไปไม่ได้

          เมื่อก่อนนี้ พิพิธภัณฑสถานหลายแห่งจะผลิตเหรียญฯ เลียนแบบด้วย วิธี Electrotype เนื้อโลหะ เงิน หรือ ทองคำ จากเหรียญฯ ต้นแบบ โดยการนำชิ้นงานที่ถูกทำขึ้น ด้านหน้า และ ด้านหลัง ปะกบกันด้วยการเชื่อมขอบเหรียญฯ เทใส้ในถ่วงน้ำหนักด้วยตะกั่ว ทำเครื่องหมายด้วยการปั๊ม หรือ ตอกคำว่า Replica ที่ข้างตัวเหรียญฯ เช่น บริติช มิวเซียม (British Museum) ประเทศอังกฤษ จะตอกตัวอักษร RR เพื่อให้รับรู้ และ เห็นความแตกต่างว่าไม่ใช่เหรียญฯแท้ ทำขึ้นเพื่อเป็นชิ้นงาน จำลองจากของแท้ เพื่อการศึกษา และ เพื่อการจัดแสดงในที่สาธารณะ หรือ ในตู้โชว์ของพิพิธภัณฑ์ ถ้าเหรียญฯ หายาก เหรียญใด ถูกจัดแสดงด้านหน้า และ ด้านหลังเปรียบเทียบเคียงข้างกัน โดยมีขนาด สัดส่วนเท่ากันทุกประการ นั่นคือ Electrotype coins เพราะ โดยปรกติ เหรียญแท้ แสดงได้ทีละหน้า หากต้อวการเห็นอีกด้าน ต้องวางแผ่นกระจกเงา เพื่อแสดงภาพสะท้อนจากด้านหลังของตัวเหรียญ นั้นๆ

          เหรียญฯ ที่ได้ทำซ้ำใหม่ด้วยโลหะชนิดเดิม (Restrike) หรือ โลหะมีค่าอื่น (Off-strike) จากแม่พิมพ์ดั้งเดิม ถูกกำหนดให้แตกต่างทรงคุณค่าระดับเหรียญขัดเงา (Proof coins) ถือเป็นเหรียญฯ แท้ ผลิตซ้ำทำใหม่ เพื่อการสะสม ฯลฯ นี้ จะเชื่อได้อย่างไรว่า มีจำนวนมากน้อยเท่าใด ! เหรียญฯ ดั้งเดิมที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ อนาคตจะยังทรงคุณค่าหรือไม่ ผู้ที่คิดจะสะสมเหรียญฯ มีค่า ควรได้ศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ดี


เหรียญกษาปณ์ทองคำ ขัดเงา ประเทศสยาม รัชการที่ 5 ชนิด ๕ สตางค์ ร.ศ. ๑๒๗ ผลิตจากประเทศเบลเยี่ยม

          เหรียญกษาปณ์นอกระบบ เช่นเหรียญฯ ต้นแบบ ทีไม่เคยผลิตออกมาใช้หมุนเวียน หรือ เหรียญฯ ที่ผลิตจากโลหะอื่นที่ต่างไปจากโลหะปรกติ อาจจะเข้าข่ายผลิตทำซ้ำ คือ ทำซ้ำจากแม่พิมพ์เดิมทีมีอยู่ ดังตัวอย่าง เหรียญกษาปณ์ทองคำรัชการที่ 5 ราคาหน้าเหรียญ ๕ สตางค์ ร.ศ. ๑๒๗ ผลิตจากแม่พิมพ์เหรียญกษาปณ์นิเกิล ๕ สตางค์ จากประเทศเบลเยี่ยม เมื่อแรกเป็นเหรียญฯ ตัวอย่าง ส่งมาให้ผู้ว่าจ้างในประเทศสยาม แต่เหรียญฯ แบบเดียวกันนี้ได้มีการนำออกประมูลขายที่ ฮ่องกง นิวยอร์ค และ ยุโรป เคยปรากฏมีเหรียญกษาปณ์ทองคำแบบเดียวกันนี้ ประมูลขาย เป็นเหรียญฯ ทองคำ จัดชุดประกอบด้วย เหรียญฯ ๑๐ สตางค์ ๕ สตางค์ และ ๑ สตางค์ อย่างละหนี่งเหรียญ

          ทุกวันนี้ การสะสมเหรียญกษาปณ์เป็นช่องทางการลงทุนรูปแบบหนึ่งของนักธุรกิจ พุ่งเป้าไปที่เหรียญฯ ยอดนิยมหายาก ส่วนใหญ่เป็นเหรียญฯ ทองคำ ในเมื่อทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าราคาแพง และ นับวันจะมีราคาเพิ่มค่าขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถูกใช้ในภาคอุตสาหกรรมอีเลคทรอนิกส์ อุปกรณ์เทคโนโลยีทางด้านดิจิตัล เอไอ มีความต้องการใช้ทองคำในปริมาณมาก จึงไม่แปลก ที่มีการนำแม่พิมพ์เหรียญฯ ยอดนิยม ผลิตทำซ้ำ ในรูปของเหรียญฯ ทองคำขัดเงา เสริมคุณค่าขายพร้อมประกาศนียบัตรกำกับรับรองจากโรงกษาปณ์ผู้ผลิต ใน อเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชีย และ ออสเตเรีย ส่วนใหญ่ใช้แม่พิมพ์เหรียญดั้งเดิม ที่เคยใช้ผลิตในสมัยวิคตอเรีย คือ หลัง ค.ศ. 1800 เป็นต้น


เหรียญที่ระลึก แบบ 1 ขนาด 72 มม. พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 รับคณะทูตสยาม เหรียญฯ แท้ดั้งเดิม



เหรียญที่ระลึก แบบ 1 ขนาด 72 มม. พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 รับคณะทูตสยาม ผลิตใหม่ทำซ้ำด้านหน้าต่างพิมพ์ ด้านหลังพิมพ์เดิม มีขายที่ www.cgb.fr


เหรียญที่ระลึก แบบ 2 ขนาด 41 มม. พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 รับคณะทูตสยาม เหรียญฯ แท้ดั้งเดิม


เหรียญที่ระลึก แบบ 2 ขนาด 41 มม. พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 รับคณะทูตสยาม เหรียญฯ ผลิตใหม่ทำซ้ำ ด้านหน้าต่างพิมพ์ ด้านหลังพิมพ์เดิม มีขายที่ www.cgb.fr

          เหรียญฯ ที่ระลึกการเจริญสัมพันธ์ไมตรีทางการทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มหาราชแห่งราชอาณาจักร์ฝรั่งเศส กับ ราชอาณาจักรสยามสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื้อเงิน เหรียญแท้ดั้งเดิม แบบ 1 ขนาด 72 มม. หายากมาก เป็นที่ต้องการของนักสะสม ถูกประมูลขายโดย Stack & Bower's Galleries เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2556 ได้ราคากว่าห้าแสนบาท

          เมื่อปี พ.ศ. 2510 สำนักกษาปณ์ฝรั่งเศส กรุงปารีส Paris Mint ได้นำเหรียญที่ระลึกดั้งเดิม สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จำนวนมาก หนึ่งในนั้น มีเหรียญฯ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ขณะออกรับคณะทูตสยาม ขนาด 72 มม. และ ขนาด 41 มม. ปั๊มเหรียญฯ โลหะชนิดต่างๆ พร้อมกล่องเพื่อการค้า เป็นของที่ระลึก (Souvenir) สำหรับนักท่องเที่ยวเลือกซิ้อ มีขายทั่วไป เหรียญฯ กลุ่มนี้ไม่เข้าข่ายทำซ้ำ (Restrike) เพื่อการสะสม เนื่องจากไม่ได้ใช้แม่พิมพ์ดั้งเดิม และ ไม่มีการควบคุมจำนวนผลิต ที่สำคัญ คือ ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบ และ ตั้งใจผลิตให้ต่างไปจากพิมพ์ดั้งเดิมอย่างมีนัย โดยการสำเนา (Copy) กัดพิมพ์ขึ้นมาใหม่ จากเหรียญเดิมด้วยเครื่องจักร แน่นอน วิธีทำสำเนาแบบนี้ จะไม่สามารถเก็บรายละเอียดลายเส้นบางๆ ได้ทั้งหมด ในขณะเดียวกัน หลังจากที่ได้กัด และ สร้างแม่พิมพ์ขึ้นมาใหม่เรียบร้อยแล้ว ต้องนำมาขัดเกลา ผลก็คือ พิมพ์จะไม่มีความคมชัดเท่าเหรียญฯ แท้ดั้งเดิม การนี้ น่าจะเรียกว่าทำใหม่เพื่อการค้า (Reproduction) จากนั้น ตอกทำเครื่องหมายที่ด้านข้าง (Edge) ของตัวเหรียญ บอกชนิดโลหะ เพื่อให้รับรู้ว่าทำขึ้นใหม่ มีกระบวนการผลิตคร่าวๆ ดังนี้ :-


ภาพจาก Internet สร้างแม่พิมพ์ตัวใหม่ถอดแบบ สำเนา (Copy) จากเหรียญฯ ต้นแบบเดิมด้วยเครื่องจักร์


ภาพจาก Internet ตัวเหรียญเปล่าซึ่งมีขนาดใหญ่และหนา จำต้องปั๊มขึ้นรูปหลายครั้งจากแม่พิมพ์ที่ได้สร้างขึ้นใหม่


ภาพจาก Internet นำเหรียญฯ ที่ได้ปั๊มขึ้นรูปแล้ว เป่าร้อนให้พื้นผิวอ่อนตัว เพื่อปั๊มขึ้นลายละเอียดต่อไป


ภาพจาก Internet เหรียญฯ ที่ได้ผ่านขั้นตอนการปั๊มขึ้นลายเรียบร้อย สุดท้ายกลึงกรอบปรับขนาด ตอกเครื่องหมาย


ภาพจาก Internet เพื่อความเรียบร้อยสวยงาม ต้องขัดเงาด้วยผ้าใบ เคลือบผิว ก่อนบรรจุลงกล่องเพื่อขาย

          นักสะสมเหรียญฯ ศึกษาได้จากการเสนอขายบนเวบไซต์ในยุโรป หรือ ที่ www.cgb.fr เหรียญฯ ที่ระลึก พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ออกรับคณะทูตสยาม (โกษาปาน) แบบ 1 ผลิตทำซ้ำเพื่อการค้าขนาด 72 ม.ม. และขนาด 41 มม. โลหะเนื้อเงิน ราคาประมาณ 300 ยูโร ส่วนเนื้อบรอนซ์ กะไหล่ ทอง เงิน และไม่กะไหล่ ฯลฯ ราคาประมาณ 65 - 150 ยูโร

          อนาคตอันใกล้นี้ ทุกประเทศในโลกจะเข้าสู่ระบบ สังคมไร้เงินสด (Cashless society) คือ จะไม่มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โรงกษาปณ์ทั้งหลายคงไม่ยอมอยู่นิ่ง จะหันมาผลิตเหรียญที่ระลึกในโอกาสต่างๆ เพื่อการสะสม ดังนั้น เหรียญฯ ที่เคยหายาก มีชื่อเสียง หรือ เหรียญฯ ต้นแบบไม่เคยผลิตสู่การหมุนเวียน อาจจะถูกนำแม่พิมพ์เดิมมาผลิตทำซ้ำในรูปของเหรียญที่ระลึก เหรียญทองคำขาว เหรียญทองคำ เหรียญเงิน ขัดเงา เพื่อการสะสม จึงไม่แปลกที่ขณะนี้ มีนักสะสมเหรียญกษาปณ์หน้าใหม่จำนวนมากต่างขวนขวายเสาะหาเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน และ เหรียญที่ระลึกแต่ละวาระ และ โอกาสต่างๆ ส่วนนักสะสมมืออาชีพทั่วโลกกลับหันไปสะสม เหรียญฯ โบราณที่ตอก หรือ ตีตราด้วยมือ เพื่อหลีกเลียงเหรียญฯ ทำใหม่จากการทำซ้ำ (Restrike) จากแม่พิมพ์ดั้งเดิม (Original Dies) ซึ่งอาจจะมีการกระทำในอนาคต เพื่อเติมเต็มความต้องการของนักสะสม ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เหรียญฯ โบราณโดยรวมมีราคาซื้อขายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

          ตัวอย่าง เหรียญกษาปณ์ทองคำ พระเจ้าจาหังกีร์ (Jahangir) ราชวงศ์โมกุล ประเทศอินเดีย โมเฮอร์ (Mohur) ปีที่ผลิต ค.ศ. 1623 น้ำหนัก 10.93 กรัม ขนาด 21 มม. รูปจักรราศี มกร แพะ (Capricorn)

ค.ศ. 1971 ราคาซื้อขาย 700 US$
ค.ศ. 1980 ราคาซื้อขาย 1,500 US$
ค.ศ. 2011 ราคาซื้อขาย 10,000 US$

          จากนั้น ค.ศ. 2015 เป็นปีที่ผู้คนเริ่มรับรู้ สังคมโลก จะไร้เงินสดในอนาคต
ราคาซื้อขาย กระโดดไปที่ 475,000 US$ จากการประมูลขายที่ CNG New York sell

          ข้อความต่อไปนี้ ประกอบด้วยภาพ CNG Lot number: 2407 คัดลอกมาจากการปิดประมูลขายเหรียญกษาปณ์ทองคำ จักรราศี มกร (Capricorn) ของพระเจ้า Jahangir แห่ง ราชอาณาจักรโมกุล อินเดีย โดย Classical Numismatic Group, New York. Auction Triton XIX. วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558


เหรียญฯ ทองคำ พระเจ้า Jahangir แห่งราชวงศ์โมกุล อินเดีย เหรียญจักรราศี มกร (Capricorn)

Sale: TRITON XIX; Lot: 2407, Estimate 20,000 US$.
Sold for 475,000 US$. This amount does not include the buyer's fee.

INDIA, Mughal Empire. Nur al-Din Muhammad Jahangir. AH 1014 - 1037 / AD 1605 - 1627. AV Mohur (21 mm. 10.93 g. 7 h). Zodiac type, Agra mint. Dated AH 1032 (5 November AD 1622-24 October AD 1623) and RY 17 (15/24 October AD 1621 - 14/23 October AD 1622). Constellation of Vahlik/Makara (Capricorn the Goat): sea-goat left; radiate sun behind; Zar Zewar dar Agra ruye yaft az Jahangir Shah Akbar Shah (Receive ornament on gold at Agra from Jahangir Shah (son of Akbar Shah) in Persian verse; RY and AH dates to left. Good VF, hint of deposits, minor field marks on obverse.

From the collection of Dr. Lawrence A. Adams, purchase from M. Louis Teller, June 1981.



เส้นกราฟสีเหลืองแสดงราคาซื้อขายเหรียญฯ ทองคำ จักรราศีพระเจ้า Jahangir แห่งราชวงศ์โมกุล อินเดีย

          กราฟแสดงการเคลื่อนไหวราคาซื้อขายเหรียญกษาปณ์ทองคำจักรราศี Zodiac Mohurs ของ พระเจ้า Jahangir ราชวงศ์โมกุล ประเทศอินเดีย จากหนังสือแจ้งข่าวของบริษัท Spink London ฉบับ Spink Insider, Autumn 2019, Issue 34. จากเส้นกราฟดังกล่าว เมื่อ ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) ช่วงเกิดวิกฤตแฮมเบอเก้อในประเทศอเมริกา ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำกระทบไปทั่วโลก หลายประเทศต่างอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดเงินเฟ้อไปทั่ว จากนั้น เศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่ระบบสังคมไร้เงินสด ผลที่ตามมา คือ เหรียญกษาปณ์โบราณกลายเป็นสิ่งพึงแสวงหาของเหล่านักสะสม ทำให้การซื้อขายในตลาดการประมูล มีราคาพุ่งสูงขึ้นมากเป็นประวัติกาล ไม่เว้นแม้แต่ภาพเขียน งานศิลป เพชร ของประดับมีค่า นาฬิกาหรู ฯลฯ ราคาประมูลซื้อขาย สูงมากๆ

          แนวคิด การเลือกสะสมเหรียญฯ ที่มีคุณค่า และ คาดหวังราคาสูงในอนาคต

          นักสะสมมักจะให้ความสำคัญและสนใจเหรียญฯ ที่คนส่วนใหญ่นิยม เพราะความหายาก ยึดราคาซื้อขายของตลาดเป็นตัวกำหนด น้อยนักที่จะศึกษา รับรู้ประวัติ เหตุผลการผลิต และ ผลลัพธ์ต่างๆ ฯลฯ


เหรียญที่ระลึก สงครามฝิ่น NANKING 1842 แบบแรก

          หลังจากที่กองกำลังอังกฤษได้ทำสงครามกับรัฐบาลจีน (ค.ศ. 1839 - 1842) จากมูลเหตุแห่งฝิ่น หรือ ที่เรียกว่า สงครามฝิ่น (Opium War) ซึ่งฝ่ายกองกำลังอังกฤษเป็นฝ่ายชนะ และ ได้ออกเหรียญที่ระลึก NANKING 1842 ด้านหน้าของเหรียญ เป็นรูปพระนางเจ้าวิคตอเรีย จักรพรรดินีแห่งอังกฤษ ด้านหลังของเหรียญฯ เป็นรูปสิงโตแห่งเกรท์บริเตนยืนขย้ำมังกรตัวใหญ่ยอมสยบสิโรราบ มังกรตัวนี้หมายถึงประเทศจีน ภาพด้านหลังของเหรียญนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกกระหยิ่มและทนงของผู้ที่เป็นฝ่ายชนะ ทว่าเป็นที่น่าอดสูของผู้แพ้ ทางการอังกฤษจึงได้ยุติการผลิต ยกเลิก และ ทำการผลิตใหม่ โดยปรับเปลี่ยนแบบด้านหลังของเหรียญนี้ เป็นรูปต้นปาล์มและศาสตราวุธ แทนรูปแบบสิงโตและม้งกรเดิม


เหรียญที่ระลึก สงครามฝิ่น NANKING 1842 เปลี่ยนรูปแบบด้านหลัง

          ก่อนนี้ ผู้คนไม่ค่อยให้ความสนใจเหรียญนี้มากนัก เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป หลายประเทศเจริญมั่งคั่ง ผู้คนอยู่ดีกินดี สนใจศึกษา รับรู้อดีตที่เคยรุ่งเรือง ความขมขื่น ไม่ว่าผู้ที่เคยเป็นผู้พิชิต หรือ ผู้แพ้ในอดีต ชาวจีนทั่วโลก ตลอดจนชาวอังกฤษ ต่างให้ความสนใจเสาะหา เหรียญที่ระลึกแบบแรก เนื่องจากมีจำนวนน้อย กลายเป็นเหรียญมีราคาสูง เพราะหายาก

          เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปมากเพียงไร ผู้คนย่อมได้รับความสะดวกสบายมากปานนั้น รับรู้ความเป็นอยู่ในอนาคต ย่อมอยากรู้ที่มาในอดีต จึงไม่แปลกที่ผู้คนยุคนี้ สนใจบรรพชีวิน สัตว์ดึกดำบรรพ์ มนุษย์โบราณ และ ประวัติศาสตร์ ทำให้เหรียญที่มีประวัติ หรือ ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ได้รับความสนใจ มีราคาสูงขึ้น และ เป็นที่ต้องการของนักสะสม ตัวอย่างมีให้เห็นมากมาย ศึกษาได้จากหนังสือที่มีชื่อเสียง Gold Coins of the World complete from 600 A.D. to the present โดย Robert Friedberg พิมพ์จำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1958 ปรับปรุงใหม่ทุกๆ 6 ปี เป็นหนังสือยอดนิยมอ้างอิง ของ นักศึกษา นักสะสม นักธุรกิจเหรียญกษาปณ์ และ นักกษาปณ์วิทยา


เหรียญที่ระลึก สันติมาลา (ศานติมาลา)

          พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร มหาอานันทมหิดล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติเหรียญศานติมาลา พุทธศักราช ๒๔๘๙ ตราไว้ ณ วันที่ ๑๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ให้สร้างเหรียญราชอิสสริยาภรณ์ ศานติมาลา (ศม) สำหรับพระราชทานเพื่อสนองคุณงามความดี และเป็นกิติยานุสรณ์แก่ผู้ซึ่งได้กระทำการต่อต้านผู้รุกราน และยอมเสียสละทุกอย่าง ทำการแก้กลับการร้ายให้กลายเป็นดี ยังผลให้ประเทศไทยบรรลุถึงซึ่งสันติภาพ และ คงธำรงไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตย มี ๒ ชนิด ชนิดสามัญมีลักษณะเป็นเหรียญดีบุกรูปไข่ ด้านหน้ามีรูปไอราพด ด้านหลังจารึกคาถาเป็นอักษรไทยและอักษรโรมันว่า "นัตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ" "NATTHI SANTI PARAM SUKHAM" พร้อมกับแพรแถบสีแดงกว้าง ๔๐ มิลลิเมตร ตรงกึ่งกลางของแพรแถบ มีริ้วสีน้ำเงินกว้าง ๔ มิลลิเมตร และมีริ้วสีขาวกว้างข้างละ ๒ มิลลิเมตร ประกบ ๒ ข้างริ้วสีน้ำเงิน ชนิดพิเศษมีลักษณะเช่นชนิดสามัญแต่เป็นเหรียญเงิน และเหนือเหรียญขึ้นไปมีดาบดั้งทำด้วยเงินไขว้กันประกอบอยู่ด้วย ประดับอกเสื้อเบื้องซ้าย สำหรับสตรีให้ผูกเป็นรูปแมลงปอประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย เหรียญนี้พระราชทานให้เป็นกรรมสิทธิ์ เมื่อผู้ไดัรับวายชนม์ให้ทายาทโดยธรรม รักษาไว้เป็นที่ระลึก ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น)

          ผู้ออกแบบ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี

          รัฐบาลตั้งใจที่จะมอบเหรียญฯ นี้เพื่อตอบแทนคุณงามความดีแก่เหล่าเสรีไทย และ บรรดานายทหารกองทัพอังกฤษในฐานที่ตั้ง ณ ประเทศอินเดีย และ นายทหารกองทัพอเมริกันในฐานที่ตั้งประเทศจีน ที่ได้ใหัความช่วยเหลือในการจัดตั้งหน่วยรบ สนับสนุนยุทธปัจจัย ฝึกอบรม นำส่งเล็ดลอดเข้ามาสอดแนม จารกรรม เพื่อการประสานงานกับกลุ่มเสรีไทยใต้ดินในประเทศ เพื่อการกู้ชาติ เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยถูกยึดครองโดยกองทัพญี่ปุ่น

          ภาพและข้อความต่อไปนี้ คัดลอกมาบางส่วน จากเว็บไซต์ของสำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์


          ...... แต่เมื่อจัดสร้างเสร็จแล้ว ยังไม่ทันที่จะมีพิธีแจกเหรียญอย่างสมเกียรติ ก็เกิดการรัฐประหารอันเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์การเมืองไทยขึ้นเสียก่อนในวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัติย์ในยุคนั้น ตัดสินใจ "รับเชิญ" จากคณะทหารขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่จะจำใจ "รับเชิญ" ให้ลาออกในเวลาไม่นาน แต่ระหว่างที่บริหารประเทศอยู่นั้น รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ได้สั่งระง้บการแจกเหรียญสันติมาลา และสั่งให้เอาเหรียญดังกล่าวที่ทำไว้เสร็จสรรพแล้วส่งให้กองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ยุบหลอมทำเป็นเหรียญสลึง เหรียญห้าสิบสตางค์ ใช้ไปให้หมด ........

          หลังจากนั้นท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ลี้ภัยไปยังต่างแดน และเสียชีวิตนอกมาตุภูมิในที่สุดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖


          ผลลัพธ์ คือ เหล่าผู้กล้าเสรีไทยในประเทศ และ เสรีไทยในต่างประเทศ ต่างผิดหวัง จากผลกระทบทางการเมืองของไทย ตรงกันข้าม กลับกลายเป็นเหล่านายทหารต่างชาติที่ได้ช่วยเหลือ ประสานงาน ฝึกกองกำลังเสรีไทย ได้รับความดีความชอบ ต่างได้รับเชิญเข้าร่วมพิธี รับมอบเหรียญเงินชั้นสูงสุดชนิดแขวนใต้ดาบดั้งไข้ว ถ้วนหน้าทุกคน จากสถานเอกอัครราชทูตไทยในเวลานั้น เหรียญเงินชั้นสูงสุดแขวนใต้ดาบดั้งไข้วเหล่านี้ จึงมีพบเห็นได้แต่ในยุโรป และ อเมริกา

          เป็นที่น่าอดสู ผู้คนที่ได้ทำหน้าที่เสียสละ ต่อต้านการยึดครองของกองทัพญี่ปุ่นนาม เสรีไทย สมควรจะได้รับเหรียญสันติมาลานี้ เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล กลับถูกผู้ที่มิได้เป็นเสรีไทยแต่มีอำนาจ ขัดขวางกีดกัน ได้มีคำสั่งให้หลอมทำลายสิ้น ........ ในอนาคต จากสำนึกชาตินิยม และ ความภาคภูมิใจเหล่าเสรีไทย และ วีระชนในอดีต เหรียญสันติมาลานี้ จะเป็นที่ต้องการเสาะหาอย่างยิ่ง


          ขอนำเสนอ เหรียญที่ระลึก หาได้ง่าย ใกล้ตัว วิเคราะห์ และ ประเมินคุณค่าในอนาคต


เหรียญ พระบิดาแห่งฝนหลวง

          เหรียญ พระบิดาแห่งฝนหลวง เป็นเหรียญที่ระลึกการกำเนิดและพระราชทานฝนหลวง แก่ภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทยที่ประสพภาวะขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ยังประโยชน์อย่างมหาศาลแก่เกษตรกรให้มีน้ำทำเกษตรกรรม ผู้คนและสัตว์เลี้ยงในถิ่นธุระกันดารได้มีน้ำเพียงพอเพื่อการอุปโภคและบริโภค

          เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า โลกกำลังเข้าสู่ภาวะโลกร้อน นับวันความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้จะทวีความรุนแรง ก่อให้เกิดปัญหาและความเดือดร้อนไปทั่ว แม้นบางท้องที่อาจจะแก้ปัญหาด้วยการขุดบ่อบาดาล แต่ก็ไม่เสมอไปที่จะประสบผล เพราะเกือบทุกพื้นที่ล้วนมีระดับน้ำใต้ดินต่ำมากยากต่อการหวังผล ภาวะความแห้งแล้งเหล่านี้ แก้ไขได้วิธีเดียว คือ การทำฝนเทียม

          ในอนาคต ผู้คนที่ได้รับประโยชน์จากการทำฝนเทียม หากได้รับรู้ เหรียญ พระบิดาแห่งฝนหลวง ย่อมจะมีความประทับใจใคร่แสวงหา เพราะเหรียญฯ นี้ มีประวัติ


เหรียญ มหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฏราชกุมาร

          วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด คือ มีผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์จำนวน 4 คน ได้บุกเข้ายึดสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ที่ กรุงเทพฯ และได้จับเจ้าหน้าที่สถานทูตเป็นตัวประกัน เพื่อต่อรองกับรัฐบาลไทย เหตุการณ์นี้ ก่อให้เกิดความโกลาหลเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก แต่พระราชพิธีในวัดพระศรีรัตนศาสดารามก็ยังคงดำเนินต่อไป ไม่สะทกสะท้านต่อเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้แต่งตั้งให้พลอากาศเอก ทวี จุลทรัพย์ กับพวก ทำหน้าที่เจรจาต่อรองกับผู้ก่อการร้ายฯ ที่หน้าสถานทูตอิสราเอล

          ตกบ่าย พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร เสร็จพิธี ในขณะเดียวกัน ด้านผู้ก่อการร้ายฯ กับคณะผู้เจรจาจากฝ่ายไทยก็สามารถตกลงกันได้ คือ ยินยอมปลดอาวุธ และ ออกจากสถานทูตอิสราเอลอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยรัฐบาลไทยได้จัดเครื่องบินการบินไทยนำผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์ทั้ง 4 คน โดยมี พลอากาศเอก ทวีจุลทรัพย์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีก 3 นาย ร่วมเดินทางบินเป็นเพื่อนเพื่อส่งผู้ก่อการร้ายฯ ไปยังกรุงไคโร ประเทศอียิปต์

          เหตุการณ์นี้ สร้างความประหลาดใจแก่ชาวโลก เพราะทุกครั้งที่ผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์ไปปฏิบัติการ ไม่ว่าที่ใดในโลกจะยุติหรือจบลงด้วยความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน จากนั้น จะตามมาด้วยการจับกุมคุมขัง และ ความอาฆาตมาดร้าย เหตุการณ์นี้ผู้ก่อการร้ายฯ ได้ผลงานจากความสำเร็จเชิงสัญลักษณ์ และได้เดินทางกลับบ้านอย่างมีเกียรติ ส่วนประเทศไทยได้รับคำชมจากชาวโลกว่า มีชั้นเชิงและความสามารถในการเจรจาด้วยสันติวิธี ไม่เสียเลือดเนื้อ และไม่มีความขุ่นข้องหมองใจกับฝ่ายผู้ก่อการร้าย ฝ่ายรัฐบาลอิสราเอลก็มิได้รับความเสียหายแต่ประการใด ให้ความขอบคุณและชื่นชมในความสามารถของรัฐบาลไทย นี่คือ ประวัติศาสตร์เบื้องต้นของ เหรียญ มหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร

          จากนั้นมา เหรียญนี้ถูกเขย่าด้วยปัญหาทางการเมือง สังคมเกิดความขัดแย้งทางความคิด ขาดความสามัคคี แตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หลากกลุ่ม หลากสี หลากก้วน ... ต่างขัดขวางปะทะ และ ต่อสู้กันเอง ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิต และ ทรัพย์สิน การพัฒนาประเทศชะลอ เศรษฐกิจถดถอย ยุยง ปลุกปั่น ใส่ร้าย ป้ายสี ต่อต้าน รัฐประหาร ....... ปัญหาเหล่านี้ สร้างความท้อแท้เบื่อหน่ายแก่สุจริตชน จากนั้นในที่สุด...... บ้านเมืองถูกจัดระเบียบ และ ปฏิรูปเป็นการใหญ่ ทุกหมู่เหล่าร่วมกันเข้าสู่กระบวนการปรองดอง และ พัฒนาชาติไทย จากความตกต่ำ ก้าวไปสู่ความรุ่งเรือง ศิวิไลย์ ไม่มีเหรียญฯ ใดที่เกี่ยวของกับประวัติศาสตร์ได้มากเพียงนี้

          เสน่ห์ และ คุณค่าของเหรียญฯ อยู่ที่ประวัติศาสตร์ ความหายาก ค่านิยม และ ความต้องการ จะเป็นตัวกำหนดราคาในอนาคต

          ประโยคข้างต้นนี้หากมองผิวเผินเสมือนเข้าใจง่าย พิจารณาให้ดี เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิมพ์ธนบัตรทุกชนิดราคา 20 บาท 50 บาท 100 บาท 500 บาท และ 1,000 บาท เพื่อเป็นอนุสรณ์ชุดสุดท้ายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ผู้คนล้วนเก็บสะสมกันถ้วนหน้า จำนวนมากน้อยตามกำลังทรัพย์ และ ศรัทธาของแต่ละบุคคล ทราบใหมว่า ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท 50 บาท และ 100 บาท ถูกแลกเก็บเป็นจำนวนมากที่สุด

          ลองจินตนาการ อนาคต สามสิบปี สี่สิบปี ข้างหน้า เศรษฐกิจประเทศไทยโตตาม ค่าครองชีพสูง รายได้มวลรวมของประชาชาติเทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ภาวะสังคมไร้เงินสดทำให้เหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึก และ ธนบัตรเก่ามีราคา เวลานั้นใครก็ตาม หากจะรวบรวมเก็บธนบัตร ชุดสุดท้ายของรัชกาลที่ 9 ให้ครบชุดทุกชนิดราคา แน่นอน จะต้องเสาะหาธนบัตรชนิดราคา 500 บาท และ 1,000 บาท เนื่องจากหายาก เพราะมีผู้เก็บสะสมน้อย ในเมื่อเราเป็นนักสะสมเพื่อการลงทุน หรือ นักเก็งกำไรในอนาคต ต้องยึดหลัก อุปสงค์ อุปทาน (ขณะนี้ พ.ศ. 2560) แน่นอนต้องเก็บธนบัตรชนิดราคา 500 บาท และ 1,000 บาท ชุดสุดท้ายของรัชกาลที่ 9 ให้มากเข้าไว้

          ต้องมีสติประเมินให้ดี เราอยู่ในยุคสื่อสารไร้พรมแดน รู้ทันทั่วถึงกันหมด ของแพงสูงค่าหากผลิตจำนวนน้อย ย่อมจะมีราคาสูง ศึกษาได้จากจำนวนเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกทองคำ ของสำนักกษาปณ์ กระทรวงการคลัง ในอดีต ก่อนปี พ.ศ. 2555 ได้เคยออก และ รับใบสั่งจองเหรียญฯ ที่ระลึกตามวาระ และ โอกาสต่างๆ แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร ยอดสั่งจองมีน้อย จึงผลิตจำนวนน้อยตามใบจอง แน่นอน ในอนาคตเหรียญฯ เหล่านั้น จะเป็นของหายาก และ มีราคาสูง

          เมื่อเกิดกระแสสังคมไร้เงินสดกระเพื่อมไปทั่วโลก ปรากฏการณ์ที่เห็นเด่นชัด คือ นักสะสม และ นักลงทุนที่มีเงิน ต่างให้ความสนใจเหรียญฯ มีค่า สืบเสาะ ซื้อหาเก็บสะสม ดั่งกระแสตื่นทอง กระตือรือล้นชิงสั่งจอง จนทางการต้องจำกัดสิทธิ์ไม่ให้สั่งจองมากเกินกำลังการผลิต บางโอกาสก็ขยายรับจอง เพื่อสนองความต้องการของนักสะสม เช่น เหรียญทองคำอนุสรณ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ถูกสั่งจองล้นหลาม พึงเข้าใจได้เลยว่า ในอนาคต เหรียญทองคำอนุสรณ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จะอยู่ในมือของคนส่วนมากในประเทศ แม้นมีการเปลี่ยนมือถือครองไปมา ก็ยังคงมีจำนวนคงเหลือเท่าเดิม คือ เท่าจำนวนที่ผลิต เพราะเหรียญฯ มีค่าเหล่านี้จะไม่สูญหาย หรือ ถูกหลอมทำเครื่องประดับ เนื่องจากราคาจองซื้อขายแต่แรก สูงกว่าราคาหน้าเหรียญ มีราคาแพงมากกว่าราคาทองคำในตลาดหลายเท่า น่าคิด ... เหรียญฯ เหล่านี้มีค่าก็จริง แต่ราคาในอนาคตคงจะไม่หวือหวาเท่าเหรียญฯ ทองคำของรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และ เหรียญรัชกาลที่ 9 ทุกรุ่น ที่ได้ผลิตก่อนหน้านั้น เพราะมีอยู่ในมือผู้ถือครองจำนวนน้อยมาก ของมีน้อยย่อมหายาก ของมีมากที่ไหนก็มี เมื่อเป็นเช่นนี้ หากรักที่จะเป็นนักสะสมเหรียญกษาปณ์เพื่อการลงทุน ต้องเน้น ให้น้ำหนักที่ ความหายาก มีจำนวนน้อย และ ต้องไม่จำกัดตัวเองหาสะสมแต่ของที่มีอยู่ในประเทศ

          ใคร่แนะนำให้ศึกษาเหรียญกษาปณ์โบราณ ของชาติที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม และ อารยะธรรมมาแต่โบราณ สองชาติ คือ อินเดีย และ จีน ซึ่งในอดีต แต่ละอาณาจักร และ แว่นแคว้นของสองชาตินี้ ได้ผลิตเหรียญกษาปณ์ใช้ในอาณาจักร หลายยุค หลายสมัย ที่โด่งดังมีชื่อเสียง และ เป็นที่ต้องการของนักสะสมทั่วโลก คือ เหรียญกษาปณ์ทองคำ ราชวงศ์คุชชาน คุปตะ และ โมกุล ของชนชาติอินเดีย ก้อนเงินไซซี ของชนชาติจีน และ เหรียญดอลลาร์จีนยุคเริ่มต้นประชาธิปไตย เหรียญรุ่นเก่ามีค่าของสองชาติ นี้ จำนวนมากมีเก็บสะสม นิยมซื้อขายเปลี่ยนมือ ระหว่างนักสะสม จากผู้ค้าหลายประเทศในเอเซีย และ ยุโรป มากกว่าในประเทศต้นกำเนิด ทั้งนี้ ศึกษาหาความรู้ได้จากเว็บไซต์ ประมูลขายทอดตลาดในต่างประเทศ เพราะทั้งประเทศอินเดีย และ ประเทศจีน เป็นประเทศใหญ่มีประชากรมาก กำลังเร่งปฏิรูปพัฒนาเศรษฐกิจ และ จะเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งในอนาคต ประเทศใดก็ตาม ที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ประชาชนในชาตินั้นๆ ย่อมต้องการถือครองสินทรัพย์ในรูปของ สังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ ที่มีค่าของชนชาติตน ของสะสมเหล่านั้น จะมีราคามูลค่าสูงตาม ก่อให้เกิดการเก็งกำไร ดังตัวอย่าง ประเทศเศรษฐีเกิดใหม่ ซาอุดิอาราเบีย ซื้อขายเหรียญกษาปณ์ทองคำ หายาก ยุคสมัยอาราเบียโบราณ ราคาติดอันดับโลก พึงระมัดระวัง ต้องละเอียดรอบคอบ ตรวจสอบให้ดีก่อนตัดสินใจ ซื้อ หรือ ประมูลจาก บริษัทที่มีชื่อเสียงเชื่อถือได้ เท่านั้น


เหรียญกษาปณ์ทองคำ กรีกในเอเชีย แห่ง Baktria พระเจ้า Eucratides I พ.ศ. 688-715 พบใน ประเทศอาฟกานิสถาน ปากีสถาน และ อินเดีย


เหรียญกษาปณ์ทองคำ คุชชาน (Kushan) ประเทศอินเดีย พระเจ้าขะนิสกะ (Kanishka I) พ.ศ. 670-693


เหรียญกษาปณ์ทองคำ คุปตะ (Gupta) ประเทศอินเดีย พระเจ้าจันทราคุปต์ที่สอง (Chandragupta II) พ.ศ. 918-957


เหรียญกษาปณ์ทองคำ โมกุล (Moghul) ประเทศอินเดีย พระเจ้าจาร์หังกี (Jahangir) พ.ศ. 2148-2170


เหรียญกษาปณ์ทอง ดอลลาร์ประเทศจีนยุคเริ่มต้นประชาธิปไตย ค.ศ. 1915 ชื่อ Hong Xian ด้านหน้า รูป Yuan Shih-Kai ด้านหลัง รูปมังกร


เหรียญกษาปณ์เงิน ดอลลาร์ประเทศจีนยุคเริ่มต้นประชาธิปไตย ค.ศ. 1929 ด้านหน้า รูป Chang Tso Lin ด้านหลัง รูปธงชาติคู่

          ตัวอย่าง มีให้เห็น

          เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 บริษัทคริสตี้ นิวยอร์ค (Christy's New York) จัดประมูลภาพเขียน บนผืนผ้าใบลินิน ขนาด 25.8 นิ้ว x 19.2 นิ้ว อายุ 520 ปี Salvator Mudi ภาษาอิตาเลี่ยน หมายถึง พระผู้เป็นเจ้าผู้ช่วยให้รอด ของ Dmitry Rybolovlev เศรษฐีผู้มั่งคั่งชาวรัชเชีย วาดโดยจิตรกรชื่อด้ง ยุคเรอเนซองส์ นาม ลีโอนาโด ดาวินซี่ ได้ราคาสูงเป็นประวัติกาล 450.3 ล้านเหรียญอเมริกัน (กว่า 16,000 ล้านบาท) ผู้ประมูลซื้อ คือ เจ้าชาย Badr bin Abdullah Al Saud กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว อาบูดาบี ก่อให้เกิดปรากฎการณ์ ผู้คนตื่นตาตื่นใจ และตื่นตัวไปทั่วโลก อันสืบเนื่องจากประเทศมั่งคั่งกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสด และ อีกเหตุผลหนึ่งของชาติอาหรับผู้มีความมั่งคั่งจากน้ำมันปิโตเลียม คือ โลกอนาคตจะลดพึ่งพาการใช้พลังงานจากฟอสซิล (น้ำมันปิโตเลียม) จะหันไปใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น จึงจำต้องพยายามหาและถือครองสินทรัพย์ ผลก็คือ ทำให้ผู้คนที่มั่งคั่งทั้งหลายต้องหันมาให้ความสนใจ เพื่อถือครองศิลปวัตถุ และ โบราณวัตถุที่มีค่า แน่นอนที่สุด ภาพเขียนของลีโอนาโด ดาวินซี่ที่มีอยู่ทั่วโลกทุกภาพ จะมีราคาประเมินสูงขึ้นมากกว่าเดิม ค่ากรมธรรม์ประกันภัยจะถูกเรียกเก็บสูงขึ้นตาม ดังนั้น มูลค่าสินทรัพย์โดยรวมของผู้ถือครองก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ทางการฝรั่งเศสได้ประเมินค่าและราคาของภาพ โมนาลิซ่า เก็บรักษาที่ พิพิธภัณฑสถาน ลุฟท์ ให้เป็นปัจจุบัน สูงถึง 800 ล้านเหรียญอเมริกัน (กว่า 28,000 ล้านบาท)

หมายเหตุ: ชาวมุสลิมจะไม่เก็บวัตถุ ศิลปวัตถุ ของศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ของศาสนาอิสลามในที่อยู่อาศัย แต่จะเก็บรักษาสิ่งของที่มีค่าเหล่านั้น ในพิพิธภัณฑสถาน ตัวอย่าง เช่น หนังสือประกอบภาพเรื่องรามายานะ (รามเกียรติ์) ฉบับภาษาเปอร์เซีย สมัยพระเจ้าอักบามหาราช แห่งราชวงศ์โมกุล อินเดีย ครอบครองและจ้ดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งเดียวกัน


ภาพเขียน Salvator Mudi พระผู้เป็นเจ้าผู้ช่วยให้รอด วาดโดย จิตรกรเอกชาวอิตาเลี่ยน ลีโอนาโด ดาวินชี

          เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 บริษัทคริสตี้ เจนีวา (Christy's Geneva) จัดประมูลขายแหวนเพชรสีชมพู ขนาด 18.96 การัต บนเรือนแหวนทองคำขาว ชื่อ Pink Legacy Diamond ได้ราคาสูงเป็นประวัติกาล คือ 50 ล้านเหรียญอเมริกัน (กว่า 1,600 ล้านบาท) ผู้ประมูลซื้อ คือ ผู้ค้าอัญมณี นิวยอร์ค บริษัท Harry Winston
          เพชรสีชมพูชิ้นนี้ เป็นสมบัติของตระกูล Openheimer เจ้าของกิจการเหมืองแร่ ประเทศอาฟริกาใต้ บริษัท De Beer เมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว และได้เจียรนัยเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเมื่อปี พ.ศ. 2463


แหวนเพชร Pink Legacy Diamond

          เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 บริษัทคริสตี้ เจนีวา (Christy's Geneva) จัดประมูลขายนาฬิกาข้อมือ Patex Phillippe รุ่น Grandmaster Chime ตัวเรือนทำด้วย Stainless steel ได้ราคาสูงเป็นประวัติกาล คือ 31 ล้านเหรียญอเมริกัน (กว่า 992 ล้านบาท) ไม่เปิดเผยชื่อผู้ประมูลซื้อ

          เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2542 บริษัทคริสตี้ นิวยอร์ค (Christy's New York) จัดประมูลขายนาฬิกาพก Patex Phillippe รุ่น Super complication ตัวเรือนทำด้วยทองเค ได้ราคาสูง 24 ล้านเหรียญอเมริกัน (กว่า 768 ล้านบาท)

          เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560 บริษัท Phillips Bac & Russo New York จัดประมูลขายนาฬิกาหรู Rolex Cosmograph รุ่น Daytona ตัวเรือนทำด้วย Stainless steel ของดาราฮอลลีวูด Paul Newman ได้ราคาสูง 17.75 ล้านเหรียญอเมริกัน (กว่า 568 ล้านบาท)


นาฬิกาหรู Patex Phillippe Grandmaster Chime, Patex Phillippe Super complication, Rolex Paul Newman Daytona.

          เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563 บริษัท Roma Numismatics Ltd. กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จัดประมูลขายเหรียญกษาปณ์ทองคำโรมัน บรูตุส ที่ระลึกการสังหารจอมจักรพรรดิ จูเลียสซีซ่า แห่งจักรวรรดิโรมัน ราคาเริ่มต้น 500,000 ปอนด์ ได้ราคาสูง 3.2 ล้านปอนด์ (กว่า 128 ล้านบาท)


Servilius Caepio (M. Junius) Brutus AV Aureus. Military mint travelling with Brutus in the East, late summer-autumn, 42 BC. L. Plaetorius Cestianus, moneyer. Bare head of Brutus to right; BRVT above, IMP before, L • PLAET • CEST behind / Pileus between two daggers of differing design, their points downwards; below, EID•MAR. 8.06g, 19mm, 12h.

Near mint state and highly lustrous; the usual die breaks, minor surface marks, light red-brown calcite deposits on obverse and reverse. Authenticated and encapsulated by Numismatic Guaranty Corporation (NGC) and graded MS★ 5/5 - 3/5, Fine Style (#5770688-001). Excessively Rare; the third known example: one on long-term loan to the British Museum, the other in the Deutsche Bundesbank collection.
Estimate: 500,000 GBP

          ในอนาคต เมื่อประเทศเป็นสังคมไร้เงินสดสมบูรณ์แบบ ตัวเงินของทุกคนจะอยู่ในรูปตัวเลขของเครดิตเก็บรักษาสำหรับรับเข้าเพิ่มยอด หรือ เบิกถอนลดยอดที่ธนาคาร ผ่านมือถือ หรือ สื่ออื่นใดที่ทางการรับรองภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งชาติ ไม่มีการใช้ธนบัตร ไม่มีเงินเหรียญฯ แต่อยู่ในรูปของเงินดิจิตัล Digital currency ไม่มีตัวตน สัมผัสไม่ได้ รับรู้จำนวนจากตัวเลขทางบัญชีที่แสดง หลักฐานการเงินที่สำคัญของแต่ละบุคคล คงมีเพียงรายการกระแสเงินดิจิตัลเข้าออก ยอดคงเหลือบนฐานข้อมูลในระบบบล๊อคเซนส์ Block chains ของธนาคาร ที่รับฝากถอน ดูแลบัญชีการเงินของเรา หากระบบขัดข้อง ไม่สามารถกระทำธุรกรรมการเงินเป็นการชั่วคราว ยังพอแก้สถานะการณ์เฉพาะหน้าได้ด้วยการกระทำผ่านเอกสารเงินเชื่อ เพื่อชื้อขายกับคู่ค้า แต่ถ้าเกิดภาวะวิกฤต ระบบขัดข้อง เสียหาย ธนาคารถูกแฮ๊ก ... ไม่สามารถเปิดทำการได้ หรือ เกิดภาวะจาระจล ภาวะสงคราม ต้องอพยพหลบหนีภัย นี่จะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะจะไม่มีเงินซื้อหา หรือ จ่ายเป็นค่าจ้าง ค่าแรง ...

          จำเป็นอย่างยิ่ง ต้องแบ่งเก็บเงินในรูปของทองคำแท่งชิ้นเล็กๆ ติดบ้าน หรือ เก็บไว้ในล๊อกเก้อร่วมกับเอกสารสำคัญ หรือ โฉนดที่ดิน เก็บฝากรวมกันที่ธนาคารฯ เพื่อใว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน หากเกิดวิกฤต ! พึงเข้าใจว่า ทองคำแท่ง หรือ ทองรูปพรรณ ย่อมมีราคาขึ้นลงตามราคาตลาด โดยที่ต้องถือครองทองคำไว้นาน เพื่อสำรองใช้ในภาวะวิกฤตตลอดชีวิต ควรพิจารณาทองคำในรูปที่เป็นของสะสม เพราะของสะสมยิ่งนานวัน ยิ่งมีค่า และ ราคาเพิ่มตามอายุ


          ยกเว้น เพชร พลอย หินสีมีค่า ความนิยม มีขึ้น มีลง จากอิทธิพลของการโฆษณา ปั่นตลาด อนาคตไม่แน่นอน ศึกษาได้จาก เพชร ช่วงใดราคาตกต่ำ บริษัท De Beers ผู้กุมตลาดเพชรโลก และ ผู้ประกอบการรายอื่น จะร่วมมือกัน ทุ่มทุนโฆษณา กระตุ้นความนิยมเพชรในหมู่ชนชั้นสูง

          ปัจจุบันนี้ ค่านิยมหมั้นของคู่รักหนุ่มสาว ด้วยเพชรแท้ ของชาวตะวันตก เริ่มเปลี่ยนไปใช้ เพชรแล็บ Lab grown diamonds เป็นเพชรสังเคราะห์ มีคุณสมบัติเทียบเท่าเพชรธรรมชาติทุกประการ แต่ มีราคาถูก เมื่อเทียบกับ เพชรแท้ เพชรดิบ เพชรธรรมชาติ มากกว่า 80 %

          อนาคต วลี คำว่า มีเงิน จะหายไปคงมีแต่คำว่า มีทรัพย์ รวยทรัพย์

          อ้างอิงบทความคัดลอกจากนิตยสาร The Economist การจัดชั้นทรัพย์สินที่จับต้องได้ ผลตอบแทนจากการลงทุน คิดเป็นเปอร์เช็นต์ เมื่อสิบปีที่ผ่านมาจนถึง ปี ค.ศ. 2016 เหรียญฯ หายาก 195 % ภาพเขียนงานศิลปะ 139 % แสตมป์ 133 % หุ้น S&P Index 58 % เฟอนิเจอร์ 31 %

          เหรียญฯ มีความได้เปรียบกว่าภาพเขียน เพราะมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา มีความแกร่งคงทน สะดวกต่อการจัดเก็บ และ เคลื่อนย้าย อัตราส่วนมูลค่าต่อขนาดของวัตถุก็มีมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับของสะสมที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่น เฟอนิเจอร์ ฯลฯ

          แม้นแสตมป์ มีน้ำหนักเบาบางมากกว่า แต่ความนิยมเริ่มลดลง ไม่ต่างไปจากเฟอนิเจอร์ ซึ่งมีขนาดใหญ่เทอะทะ ต้องการพื้นที่เก็บรักษา และ ขนย้ายยาก

          เหรียญฯ สะสมประเภทหนึ่งใคร่ขอเตือน ณ ที่นี้ คือ เหรียญฯ พิมพ์ภาพด้วยเลเซอร์สามมิติ (Laser-imaging-3-D) ภาพที่พิมพ์ด้วยระบบนี้ ยากต่อการตรวจจับผิด ง่ายต่อการปลอมแปลง และ ลอกเลียนแบบ เพราะพิมพ์ภาพด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ควบกับเครื่องพิมพ์ภาพเลเซอร์สามมิติ ซึ่งเครื่องอุปกรณ์ไฮเทคเหล่านี้ ล้วนมีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมาก เหรียญฯ ประเภทนี้ จึงง่ายต่อการปลอมแปลงในอนาคต พึงหลีกเลี่ยง เพราะทุกวันนี้ เครื่องพิมพ์ภาพเลเซอร์สามมิติ มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก และ ราคาถูกลงเรื่อยๆ


เหรียญภาพพิมพ์ด้วยเลเซอร์สามมิติ Laser-imaging-3-D

          นำเหรียญฯ สมบัติล้ำค่าของชาติไทยกลับบ้าน เพื่อเป็นมรดกของคนในชาติ

          กษาปณ์วิทยา (Numismatics) เป็นวิชาการเกี่ยวกับการรวบรวมเหรียญกษาปณ์ เพื่อการศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดี และ อารยะธรรมในอดีต

          สำหรับบุคคลธรรมดา เป็นเพียงงานอดิเรก (Hobby) สะสมเหรียญฯ (Collections) แต่ บุคคลผู้มีความมั่งคั่ง สะสมเพื่อหวังผลกำไรจากการลงทุน (Investments)

          ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา มีการส่งเสริม พิมพ์ตำรา แคตตาล๊อค และ วิชาการด้านกษาปณ์วิทยาเผยแพร่มากมาย ผู้คนตื่นตัว เสาะหา สะสมเหรียญกษาปณ์กันเป็นจำนวนมาก อันเนื่องมาจากมูลค่าของเหรียญฯ เพิ่มขึ้น และ คาดว่าจะเพิ่มเป็นทวีคูณในอนาคต เมื่อทั้งโลกเป็นสังคมไร้เงินสด เพราะจำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก ของเก่า ของโบราณมีจำนวนจำกัด

          เหรียญกษาปณ์ และ เหรียญที่ระลึกในวาระต่างๆ เป็นงานศิลปขนาดเล็กที่มีเอกลักษณ์ กอร์ปด้วยข้อมูลต่างๆ ในตัว เช่น ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม และ การเมือง ซึ่งในยุคสมัยรัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 เป็นยุคล่าอาณานิคม ประเทศรอบบ้านล้วนเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ และ ฝรังเศส ต่างถูกกำหนด และ บังคับให้ใช้เหรียญกษาปณ์ที่ผลิตโดยเจ้าอาณานิคม ต่างจากประเทศสยาม ดำรงความเป็นประเทศเอกราช มีเหรียญกษาปณ์ของตนเอง แต่น่าเสียดายที่เหรียญฯ มีค่าและมีชื่อเสียงจำนวนไม่น้อยในสมัยนั้น ถูกนำติดตัว กลับบ้านต่างประเทศโดยเหล่าคณะทูต เสนาบดี และ นายช่างชาวต่างชาติที่ได้เข้ามารับราชการ จากการพระราชทาน ปูนบำเหน็จแก่ผู้คนเหล่านั้น กลายเป็นมรดกตกทอดสู่ลูกหลานในตระกูลของเขา ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และ เดนมาร์ค เหรียญกษาปณ์ และ เหรียญที่ระลึกของประเทศสยาม ล้วนหายากในประเทศไทย แต่ปรากฏมีให้เห็น ประกาศประมูลขายในต่างประเทศ

          ข้อความต่อไปนี้ ประกอบด้วยภาพ Morton & Eden. Lot number: 355 คัดลอกมาจากการปิดประมูลขายเหรียญกษาปณ์ โดย Morton & Eden, GB-London. วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556


Sale, Lot 355: Siam (Thailand), Rama V (Chulalongkorn), ceremonial issue 5-Tamlung (20 baht) bullet money ('pot duang), CS 1242 (AD 1880), Cho Rampeuy, on the cremation of Somdet P'ra Deb Sirindhra, mother of Rama V, three countermarks consisting of ornate chakra wheel, Thai flower with date 1242 below, and ornate royal crown, 304 gm (of Guehler pl. VII-VIII; KM C191), toned about extremely fine, very rare.
Estimate: 6,240-9,360 US$. Sold for 29,952 US$ (Price include the Buyer's Premium of 20%). Purchase by European dealer.

เงินพดด้วงเงินยักษ์ ช่อรำเพย รัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2423 ชนิด 5 ตำลึง น้ำหนัก 304 กรัม ถูกประมูลขาย ณ ประเทศอังกฤษ วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ด้วยราคา 29,952 US$ ราคานี้รวมค่าธรรมเนียมการประมูล 20 เปอร์เซ็นต์

          พดด้วงไทยตราช่อลำเพย สุดยอดหายาก
รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดงานบำเพ็ญพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระเทพศิรินทราราชราชินี ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชชนนีย์ของพระองค์ ขณะที่พระองค์ทรงมีพระชนพรรษา 28 พรรษา ในปี พ.ศ. 2423 เนื่องจากพระราชชนนีย์สิ้นพระชนต์ พระองค์จึงต้องการถวายพระราชกุศลใหญ่ ทรงรับสั่งให้ผลิตเหรียญพดด้วงชุดพิเศษขึ้น เพื่อพระราชทานแก้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มีทั้งหมด 6 ขนาด

พดด้วง 1 ชั่ง (20 ตำลึง หรือ 80 บาท) น้ำหนัก 1,211 กรัม ผลิตจำนวน 8 ตัว
พดด้วง กึ่งชั่ง (10 ตำลึง หรือ 40 บาท) น้ำหนัก 604 กรัม ผลิตจำนวน 18 ตัว
พดด้วง 5 ตำลึง (20 บาท) น้ำหนัก 302 กรัม ผลิตจำนวน 42 ตัว
พดด้วง 2 ตำลึง กึ่ง (10 บาท) น้ำหนัก 151 กรัม ผลิตจำนวน 75 ตัว
พดด้วง 1 ตำลึง (4 บาท) น้ำหนัก 60 กรัม ผลิตจำนวน 115 ตัว
พดด้วง กึ่งตำลึง (2 บาท) น้ำหนัก 30 กรัม ผลิตจำนวน 205 ตัว


          ข้อความต่อไปนี้ ประกอบด้วยภาพ Stack's Bowers & Ponterio. Lot number: 62386 คัดลอกมาจากการปิดประมูลขายเหรียญกษาปณ์ โดย Stack's Bowers & Ponterio, Hong Kong. วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2562


THAILAND. Bullet Money Presentation Set (6 Pieces), CS1242 (1880). Rama V, P’ra Paramin Maha Chulalonkorn. The Ultimate Thai Ancient Coins, King Chulalongkorn’s equal Somdet P’ra Deb Sirindhra (Princess mother), to commemorate his age. The date chosen 24 May 1880 was very symbolic because in that year the King’s age was equal to his mother’s at her time of passing. Attendees who were present during the ceremony were given examples of this issue, while full sets were given to royalty and high ranking officials. Two of the three markings are typical emblems of Thai coinage and medals. One being an elaborate form of the chakra, and the other is the mark of the crown. The third mark is that of Rampeui with date below, which was chosen because it was his mother’s maiden name. The Chang (80 Baht) and 1/2 Chang (40 Baht or 10 Tamlung) differ significantly from most other Thai bullets in that they are intricately hand engraved as opposed to the smaller denominations where all of the marks are struck. Even further delineating from the norm is the fact that this series represents the first dated silver coins of Thailand and the only dated bullet coinage ever produced. Considered by most collectors and scholars to be the pinnacle of Thai numismatics, to obtain just a single example of any denomination is a feat in its own right, let alone the opportunity to acquire an entire intact matching set. Though individual examples from this series appear in the market place from time to time, seldom does an entire set come up for sale and as such should be considered of the HIGHEST RARITY. Featured on the front cover and on pages 11-12 & 99 of Mark Graham’s and Manfred Winkler’s book “Thai Coins” published 1992, this is one of three intact sets known from a possible total of only 8 sets. Each piece from this set displays beautiful gun-metal gray with a lovely blue iridescent sheen on the 80 Baht, 40 Baht and 20 Baht, while the 10 Baht, 4 Baht and 2 Baht exhibit an attractive sunset hued sheen. An outstanding well matched set that clearly sat together for a prolonged period of time undisturbed. An opportunity not to be missed as it may not occur again for many years.

1) Chang (80 Baht or 20 Tamlung), CS1247 (1880). 10-blade variety. 1211 gms. Mintage: 8 pieces known for both Rama IV and Rama V.
2) 1/2 Chang (40 Baht or 10 Tamlung), CS1247 (1880). 12-blade variety. 604 gms. Mintage: 18 pieces.
3) 5 Tamlung (20 Baht), CS1247 (1880). 10-blade variety. 302.4 gms. Mintage: 42 pieces.
4) 2 1/2 Tamlung (10 Baht or 2 Tamlung 2 Baht), CS1247 (1880). 10-blade variety. 151.8 gms. Mintage: 75 pieces.
5) Tamlung (4 Baht), CS1247 (1880). 10-blade variety. 60.6 gms. Mintage: 115 pieces.
6) 1/2 Tamlung (2 Baht), CS1247 (1880). 8-blade variety. 30.3 gms. Mintage: 205.

1880 (BE 2423) สุดยอดของเงินพดด้วงไทย รัชกาลที่ 5 ทำขึ้นเพื่อฉลองพระชนอายุเสมอสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตร (พระราชชนนี) (หนึ่งชั่ง หรือ ยี่สิบตำลึง) น้ำ หนัก 1210.4 กรัม มี 8 เม็ด เท่าที่รู้ 40 บาท (สิบตำลึง) 603.9 กรัม ผลิต 18 เม็ด 20 บาท (ห้าตำลึง) 302.8 กรัม ผลิต 42 เม็ด 10 บาท (สองตำลึง) 151.1 กรัม ผลิต 75 เม็ด 4 บาท (ตำลึง) 60.7 กรัม ผลิต 115 เม็ด 2 บาท (กึ่งตำลึง) 30.3 กรัม ผลิต 205 เม็ด รวม 6 เม็ดชุด แกะสลัก ด้วย 3 ตรา มีตรา พระเกี้ยว ตราพระแสงพระจุลมงกุฎจักร และตราดอกช่อรำเพย CS 1242 ตราทั้ง 3 ทุก ตรามีความคมชัดมาก ๆ สีผิวของเงิน โทนธรรมชาติเกือบเหมือนกันหมด เหรียญชุดนี้เป็นที่ยอมรับของผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านว่าเป็นเหรียญที่มีสภาพสวยมากที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา สภาพของแกรนด์แชมป์เปี้ยน เงิน พดด้วงได้เลิกทำตั้งแต่ใน สมัยรัชกาลที่ 4 แต่รัชกาลที่ 5 ไดสั่งให้มีขึ้นอีกครั้ง ในพิธีสำคัญนี้ เพื่อแจกจ่ายให้พระญาติ และ เจ้านายที่สูงศักดิ์ ประวัติการประมูล ชุด นี้ขายในวันที่ 24 มีนาคม 2013 ราคา USD 325,000 ในการประมูล Eur-Seree # 1814 การประมูล อื่น ๆ (ชิ้นที่แตกต่าง) 30 พฤศจิกายน 2018 ขายในราคา USD 304,000 เฉพาะเม็ดพดด้วง 80 บาท สภาพใกล้เคียงกับเม็ดนี้ ได้มีการประมูลไปที่ Eur-Seree เอื้อเสรี ฯ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2551 ขายในราคา 7,800,000 บาท

Estimate: $350,000-Up

Ex: Eur-Seree Auction # 31 March 23-24, 2013 Lot # 1814 where it hammered for an impressive 9,200,000 Baht (Approximately $288.6 thousand) Featured on the front cover of “Thai Coins” by Mark Graham and Manfred Winkler published Bangkok 1992.

Unsold ไม่ปรากฏผู้ประมูลซื้อเหรียญฯ พดด้วงยักษ์ชุด 6 ก้อน นี้ !

พึงสังเกต เฉพาะพดด้วงขนาด ชั่ง และ กึ่งชั่ง แกะสลักตราทั้งสามด้วยมือ นอกนั้นตอกประทับตรานูนต่ำทั้งสาม ด้วยแท่งเครื่องหมายเหล็กกล้า.... แม้นเป็นของแท้ แต่นักสะสมต่างชาติไม่วางใจกับการ แกะสลักตราด้วยมือ เพราะยากต่อการจับผิด ทำเทียม เลียนแบบ....

จากนั้น Stack's Bowers & Ponterio. ได้นำกลับมาเสนอประมูลขายอีกครั้งที่ Hong Kong Lot number: 21768 วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2562

Estimate: $350,000 - 450,000
Unsold ไม่ปรากฏผู้ประมูลซื้อเหรียญฯ พดด้วงยักษ์ชุด 6 ก้อน นี้ เช่นเดิม !

          ข้อความต่อไปนี้ ประกอบด้วยภาพ Stack's Bowers & Ponterio. Lot number: 73145 คัดลอกมาจากการปิดประมูลขายเหรียญกษาปณ์ โดย Stack's Bowers & Ponterio, Hong Kong. วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560


THAILAND. Tamlung (4 Baht), ND (1864).PCGS EF-45 Secure Holder. Kann-pg. 332/333, pl. 139; Y-A/Z; SSC-pl. IX#2 a/b; LeMay-pg. 94. XXII#1. Struck to commemmorate Rama IV's 60th birthday. The obverse depicts the standard design as found on regular circulation issues of this era. The reverse display the central inscription "Kingdom of Siam" within a cubed star frame with the Chinese inscription around "Cheng Ming Tung Pao" (Negotiable Curency of Cheng Ming). It is believed that these pieces were never released for circulation and were struck for presentation to important Thai and Chinese citizens. According to Kann, the reason for a Chinese inscription was that Siam still admitted China's suzerainty over its country at this time. While Thailand still retained its domestic autonomy, China remained in control of certain affairs. An always in demand type which is sure to cause considerable bidding. Tonned and fully original, PCGS EF-45 Secure Holder.
Estimate: 9,000-12,000 US$. Price realized: 10,500 US$. Price do not include buyer's fees.

เหรียญฯ เงิน แต้เม้ง 1 ตำลึง รัชกาลที่ 4 ถูกประมูลขาย ณ เมืองฮ่องกง วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560 ด้วยราคา 10,500 US$ ราคานี้ไม่รวมค่าธรรมเนียมการประมูล 20 เปอร์เซ็นต์

          ข้อความต่อไปนี้ ประกอบด้วยภาพ Eur-Seree Collecting Co., Ltd. Bangkok Sale #29, Lot number: 492 คัดลอกมาจากการปิดประมูลขายเหรียญกษาปณ์ ของบริษัทเอื้อเสรีการประมูล ที่ กรุงเทพมหานคร วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555


2407 สุดยอดเหรียญกษาปณ์ไทย ชุดเหรียญทองคำจักรพรรดิ์ - แต้เม้งทงป้อ ออกเพื่อการเฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ อายุครบ 60 พรรษา ชนิดราคา 1/16 บ. (สองไพ), 1/8 บ. (เฟื้อง), 1/4 บ. (สลึง), 1/2 บ. (สองสลึง) , 1 บ. (บาทหนึ่ง), 2 บ. (กึ่งตำลึง), 4 บ. (หนึ่งตำลึง), ครบชุด 7 เหรียญ ทุกชนิดราคาเป็นเหรียญที่หายากมากอยู่แล้ว เมื่อรวมกันเป็นชุด ทำให้ความหายากถึงระดับสุดยอด และเป็นชุดเดียวเท่านั้น ที่สมบูรณ์ครบ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการประมูลยกชุด เหรียญฯ ชุดนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่ง ในชุดเหรียญฯ ที่หายากระดับโลก เป็นที่สนใจมาก จากนักสะสมระดับซูเปอร์เซียนทั้งไทยและต่างชาติ ทุกเหรียญอยู่ในสภาพสวยงามเยี่ยมมาก AU-UNC (7)
หมายเหตุ: เหรียญชนิดราคา 4 บาท เป็นเหรียญทองคำกษาปณ์ไทยสมัยเก่า เหรียญเดียวที่มีภาษาจีนอยู่บนเหรียญ และเป็นเหรียญเดียวที่มีสถานะการใช้งานได้สองสถานะ คือ สถานะเหรียญกษาปณ์ และ มีถานะเป็นเหรียญเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย "เอื้อ เสรีฯ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการประมูลครั้งประวัติศาสตร์นี้"
ขายที่ราคา 15,500,000 บาท ราคานี้ไม่รวมค่าธรรมเนียมการประมูล ผู้ประมูลได้เป็นชาวต่างชาติ

          ในอดีต ราชสำนักฝรั่งเศสได้ผลิตเหรียญที่ระลึกเพื่อเป็นเกียรติแก่การเจริญสัมพันธ์ไมตรีรับคณะทูตจากประเทศสยาม เป็นการเผยแพร่ให้ชาวโลกรับรู้ว่าประเทศสยามเป็นชาติอารยะ คือ เหรียญที่ระลึกสมัยพระเจ้าหลุยที่ 14 รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และ เหรียญที่ระลึกสมัยพระเจ้านะโปเลียนที่ 3 รัชสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

          ข้อความต่อไปนี้ ประกอบด้วยภาพ iNumis. Mail Bid Sale 37. Lot number: 1146 คัดลอกมาจากการปิดประมูลขายเหรียญกษาปณ์ โดย iNumis, France. วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560


Siam, Louis XIV, audience les ambassadeurs du Siam, Par Mauger, 1686 Paris A/LUDOVICUS HAGNUS REC CHRISTIAN/SSIMUS.
Tete de Louis XIV a droite, en-dessous signature J.MAVGER.F
R/FAMA VIRTUTIS
Louis XIV Sur une estrade recevant les ambassadours du Siam; a lexergue: ORATORES REGIS SIAM (date)
Cuivre 41.0 mm 30.08 g 12 h SPL, R.
Estimate: 500 EUR Price realized: 740 EUR. Price do not include buyer's fees.

เหรียญฯ ทองแดงที่ระลึกการทูตราชอาณาจักรฝรั่งเศส-สยาม สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผลิตเพื่อเป็นเกียรติโดยราชสำนักฝรั่งเศส ถูกประมูลขาย ณ ประเทศฝรั่งเศส วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ด้วยราคา 740 EUR ราคานี้ไม่รวมค่าธรรมเนียมการประมูล 20 เปอร์เซ็นต์

          ข้อความต่อไปนี้ ประกอบด้วยภาพ MDC Monnaies de Collection. Auction 2. Lot number: 134 คัดลอกมาจากการปิดประมูลขายเหรียญกษาปณ์ โดย MDC Monnaies de Collection sarl, France. วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560


Bronze medal struck in 1861 to commemorate the visit of the Ambassadors of the Siam's King at the Palace of Fontainebleau in Jun 27th 1861. Laureate head of Napolean III right. Rv. Siam ambassadors kneeling at the feet of Napolean and Princess Eugenie. Divo. 438 Dies by A.Dubois. 163.44 grs. PCGS SP 65BN.
Estimate: 2,000 EUR Price realized: 2,000 EUR. Price do not include buyer's fees.

เหรียญฯ ทองแดงที่ระลึกการทูตราชอาณาจักรฝรั่งเศส-สยาม สมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผลิตเพื่อเป็นเกียรติโดยราชสำนักฝรั่งเศษ ถูกประมูลขาย ณ ประเทศฝรั่งเศษ วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ด้วยราคา 2,000 EUR ราคานี้ไม่รวมค่าธรรมเนียมการประมูล 20 เปอร์เซ็นต์

          ข้อความต่อไปนี้ ประกอบด้วยภาพ iNumis. December 2018 Auction. Lot number: 218 คัดลอกมาจากการปิดประมูลขายเหรียญกษาปณ์ โดย iNumis, France. วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2560


Thailande (Siam), visite de Rama V en Europe, medaille d'or recue per le Pdt Felix Faure, par Auguste Patey, 1879 Paris, PCGS SP64
A/Legende en thai Bust de Rama V a droite, signature Aug PATEY
Legende en thai en sept lignes traduite ainsi: en souvenir/ des voyage/ et sejour royaux en Europe/ du 7e jour d'avil/ au 16e decembre/ 30e [annee de regne]/ Annee de lere Ratanakosin/ 116 [1897] Or 50.6 mm 95.03 g 12h SPL RRR Carne d'abonance RSNA 9 pp. 39-49, F.IV p.425
Estimate: 35,000 EUR Price realized: 95,000 EUR (Approx 107,746 $US). Price do not include buyer's fees.

เหรียญฯ ทองคำที่ระลึกเสด็จประพาสยุโรป ร. 5 ครั้งที่ 1 ถูกประมูลขาย ณ ประเทศฝรั่งเศส วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ด้วยราคา 95,000 EUR ราคานี้ไม่รวมค่าธรรมเนียมการประมูล 20 เปอร์เซ็นต์

          ข้อความต่อไปนี้ ประกอบด้วยภาพ Heritage Auction, HA. คัดลอกมาจากการปิดประมูลขายเหรียญกษาปณ์ โดย Heritage World Coin Auctions, Hong Kong Signature Sale 3084. Lot 30337. วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563


เหรียญกษาปณ์ตัวอย่าง เนื้อเงิน หนึ่งสลึง รัชกาลที่ 5 เหรียญหนวด

Thailand, Rama V silver Essai 1/4 Baht (Salung) Rs 128 (1900), Paris Mint, by Henri-Auguste Patay. An already excessively rare Essai that escarates to an entirely new tier cnditional scarcity at this supreme gem mint state level.
Estimate: 8,000 - 12,000 US$. Price realized: 22,000 US$. Price do not include buyer's fees.

เหรียญกษาปณ์ตัวอย่าง เนื้อเงิน หนึ่งสลึง รัชกาลที่ 5 เหรียญหนวด ถูกประมูลขาย ที่ ฮ่องกง วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ด้วยราคา 22,000 US$ ราคานี้ไม่รวมค่าธรรมเนียมการประมูล 20 เปอร์เซ็นต์

          ข้อความต่อไปนี้ ประกอบด้วยภาพ Heritage Auction, HA. คัดลอกมาจากการปิดประมูลขายเหรียญกษาปณ์ โดย Heritage World Coin Auctions, Hong Kong Signature Sale 3084. Lot 30339. วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563


เหรียญกษาปณ์ตัวอย่าง เนื้อเงิน สองสลึง รัชกาลที่ 5 เหรียญหนวด

Thailand, Rama V silver Essai 1/2 Baht (2 Salung) Rs 128 (1900), Paris Mint, by Henri-Auguste Patay. By all measures a classic rarity of the machine-made Thai series, virtually unattainable in any condition, and perhaps even rarer that the Essai 1/4 Baht and Baht of the same set.
Estimate: 8,000 - 10,000 US$. Price realized: 32,000 US$. Price do not include buyer's fees.

เหรียญกษาปณ์ตัวอย่าง เนื้อเงิน สองสลึง รัชกาลที่ 5 เหรียญหนวด ถูกประมูลขาย ที่ ฮ่องกง วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ด้วยราคา 32,000 US$ ราคานี้ไม่รวมค่าธรรมเนียมการประมูล 20 เปอร์เซ็นต์

          ข้อความต่อไปนี้ ประกอบด้วยภาพ Heritage Auction, HA. คัดลอกมาจากการปิดประมูลขายเหรียญกษาปณ์ โดย Heritage World Coin Auctions, Hong Kong Signature Sale 3084. Lot 30345. วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563


เหรียญกษาปณ์ตัวอย่าง เนื้อทองแดง กึ่งตำลึง (สองบาท) รัชกาลที่ 5

Thailand, Rama V copper Proof Pattern 2 Baht (1/2 Tamlung ND (1877), Paris Mint, an extremely rare unadopted pattern type which almost never occur on the market.
Estimate: 8,000 - 10,000 US$. Price realized: 36,000 US$. Price do not include buyer's fees.

เหรียญกษาปณ์ตัวอย่าง เนื้อทองแดง กึ่งตำลึง (สองบาท) รัชกาลที่ 5 ถูกประมูลขาย ที่ ฮ่องกง วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ด้วยราคา 36,000 US$ ราคานี้ไม่รวมค่าธรรมเนียมการประมูล 20 เปอร์เซ็นต์

          ข้อความต่อไปนี้ ประกอบด้วยภาพ Heritage Auction, HA. คัดลอกมาจากการปิดประมูลขายเหรียญกษาปณ์ โดย Heritage World Coin Auctions, Hong Kong Signature Sale 3084. Lot 30346. วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563


เหรียญกษาปณ์ตัวอย่าง เนื้อเงิน กึ่งตำลึง (สองบาท) รัชกาลที่ 5

Thailand, Rama V silver Proof Pattern 2 Baht (1/2 Tamlung ND (1877), Paris Mint, an extremely rare unadopted pattern type which almost never occur on the market.
Estimate: 10,000 - 20,000 US$. Price realized: 65,000 US$. Price do not include buyer's fees.

เหรียญกษาปณ์ตัวอย่าง เนื้อเงิน กึ่งตำลึง (สองบาท) รัชกาลที่ 5 ถูกประมูลขาย ที่ ฮ่องกง วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ด้วยราคา 65,000 US$ ราคานี้ไม่รวมค่าธรรมเนียมการประมูล 20 เปอร์เซ็นต์

          เหรียญฯ มีค่าหายากประเทศสยามสมัยรัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 หลากหลายชนิดแบบ รวมถึงเหรียญฯ ตัวอย่าง เนื้อทองคำ เงิน ทองแดง ฯลฯ อยู่ในมือชาวต่างชาติจำนวนมาก ส่วนใหญ่อยูในสภาพดีเยี่ยม เพราะถูกเก็บลืม และ มีจำนวนไม่น้อย หมุนเวียนเข้าออกตลาดประมูล ซื้อขายเปลี่ยนมือทำกำไร

          พวกเราชาวไทยที่นิยมชมชอบสะสมเหรียญฯ ประเทศ สยาม ควรได้ศึกษาสืบค้น จากบริษัทผู้ให้บริการฐานข้อมูลการซื้อขายเหรียญกษาปณ์ทั่วโลก จากเว็ปไซต์ต่างประเทศ เช่น Coinarchives , Coinarchives pro, Numis Bids และ อื่นๆ ระบุคำค้นหา Siam, Thailand, King Rama, Rama IV, Rama V, Tamlung หรือ Siam Bullet Coins แต่ละสัปดาห์มีเหรียญกษาปณ์ สยาม และ ประเทศไทย จำนวนไม่น้อย ประมูลซื้อขายตลอดทั้งปี

          การเก็บรักษาเหรียญ

          ไม่ควรทำความสะอาดเหรียญฯ ด้วยน้ำยาเคมีใดๆ น้ำมะขาม น้ำมะนาว น้ำส้มสายชู ห้ามเด็ดขาด เพราะมีความเป็นกรด กัดผิวโลหะ หากเหรียญฯ สกปรกให้ล้างด้วยน้ำสบู่ หรือ น้ำยาล้างจาน ปัดด้วยแปลงขนอ่อน เบาๆ เหรียญฯ เก่าเก็บ ที่มีโทนสีผิวทึมๆ ไม่ควรขัดถูออก ควรคงไว้ เพราะเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของเหรียญฯ เก่าเก็บ การจัดเก็บรักษาเหรียญฯ ที่มีค่า ควรบรรจุในซองกระดาษสีน้ำตาลชนิดหนา แยกเป็นรายชิ้น พึงหลีกเลี่ยงซองบรรจุที่เป็นพลาสติค เพราะเนื้อพลาสติคมีสารประกอบที่เป็นน้ำมัน นานไปจะก่อให้เกิดมีฟิล์มน้ำมันเหนียวบางๆ เกาะติดผิวเหรียญฯ ทำให้โทนสีผิวของเหรียญฯ เปลี่ยนไป การหยิบจับ ควรจับที่ขอบเหรียญฯ ควรสวมถุงมือผ้า เพื่อป้องกันเหงื่อมือ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นด่าง หรือ กรดอ่อนๆ ควรเก็บรักษาเหรียญฯ ในที่แห้ง ไม่อับชื้น


กระเป๋าสำหรับบรรจุเหรียญกษาปณ์ พระเครื่อง ของประดับมีค่า


ตู้ไม้สำหรับเก็บรักษาเหรียญกษาปณ์ ของกษัตริย์ Henry VIII. British Museum, London, England.

          ข้อควรรู้ สำหรับนักสะสมเหรียญกษาปณ์ มีค่า ราคาแพง และ หายาก

          ข้อความต่อไปนี้ ประกอบด้วยภาพ CNG Lot number: 614 คัดลอกมาจากการปิดประมูลขายเหรียญกษาปณ์ทองคำ พระเจ้า Diodotos แห่ง Baktria โดย Classical Numismatic Group, New York. Electronic Auction Triton VIII. วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2548


เหรียญฯ ทองคำ พระเจ้า Diodotos แห่ง Baktria มีรอยตอกด้วยของมีคมที่พระเศียรเพื่อตรวจสอบเนื้อทองคำ

Sale: Triton VIII, Lot: 614, Estimate 2,000 US$.
Closing date Monday; 10 January 2005.
Sold for 2,200 US$. This amount does not include the buyer's fee.

KING of BAKTRIA. Diodotos I, in the name of Antiochos II of Syria. Circa 255 - 235 BC. AV Stater (8.26 gm. 6 h). Mint A (near Ai Khanoum). Diademed head right /BAΣIΛEΩΣ ANTIOXOY, Zeus advancing left, brandishing thunderbolt in right hand, aegis draped over extended left arm, in inner left field, wreath above eagle standing left. EF, typical test cut.

เหรียญฯ ทองคำ พระเจ้า Diodotos แห่ง Baktria มีรอยตอกด้วยของมีคม (test cut) ที่พระเศียร นี้ ได้ถูกประมูลด้วยราคา 2,200 US$ ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมการประมูลอีก 20 เปอร์เซ็นต์

          จากนั้นมา 12 ปี ..... ข้อความต่อไปนี้ ประกอบด้วยภาพ CNG Lot number: 419 คัดลอกมาจากการเสนอประมูลขายเหรียญกษาปณ์ทองคำ พระเจ้า Diodotos แห่ง Baktria โดย Classical Numismatic Group, New York. Electronic Auction 389. วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560


เหรียญฯ ทองคำ พระเจ้า Diodotos แห่ง Baktria เหรียญฯ เดียวกันได้ถูกแก้ไขซ่อมแซมรอยตอกที่พระเศียร

CNG Triton XX Lot 419
10 - 11 January 2017. In Conjunction with the 45th Annual New York International Numismatic Convention.

BAKTRIA, Greco-Baktrian. Diodotos I Soter. Circa 255 - 236 BC AV Stater (18 mm, 8.28 g, 6 h). In the name of Antiochos II of Syria. Mint A (near Ai Khanoum). Diademed head right / Zeus Bremetes, seen from behind, advancing left, aegis draped over outstretched left arm, and brandishing thunderbolt in right hand; in inner left field, wreath above eagle standing left. Near EF, prior test cut in hair repaired. COIN SOLD AS IS, NO RETURNS. Estimate: 2,000 US$

เหรียญฯ นี้ ถ้าเป็นเหรียญฯ เดิมๆ ไม่มีตำหนิ สภาพสวยเช่นนี้จะมีราคาสูงกว่า 10,000 US$ หากสภาพนี้แต่มีรอยตัดที่พระเศียร จะมีราคาประเมิน 2,500 - 3,500 US$ โดยที่เหรียญฯ นี้เป็นเหรียญฯ แท้ แต่ถูกซ่อมและแก้ไขรอยตอก (test cut) ที่พระเศียร จึงขาดความน่าเชื่อถือ ประเมินราคาเพียง 2,000 US$ และหากประมูลได้ ต้อง ขายขาด ไม่รับคืน

          การที่จะทราบ และ จับผิดตำหนิทางกายภาพของตัวเหรียญฯ ย่อมไม่พ้นต้องพึ่งพาเครื่องมือ ยิ่งเครื่องมือมีความสามารถสูง ตรวจได้ละเอียด ประโยชน์ย่อมมีมากปานนั้น ปัญหาแบบนี้ พบในเหรียญฯ เก่าโบราณที่มีค่า ส่วนใหญ่มักเป็นเหรียญฯ ทองคำ และ เงิน

          ด้วยเหตุนี้ ชวนให้มองย้อนไปที่เหรียญฯ รัชกาลที่ 4 แต้เม้งทงป้อ Tae Meng Tong Pao ตำลึงทอง มีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ประดับได้อย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยการเชื่อม หู หรือ ห่วง ที่ด้านหลัง หรือ ขอบเหรียญฯ พบประมูลขายในต่างประเทศ และ ในประเทศ บางเหรียญมีห่วงทองคำติดอยู่ บ้างคงเหลือแต่รอยเชื่อมห่วงถูกตัดออก แล้วเหรียญฯ ทองคำมีค่าอื่นๆ ของรัชกาลที่ 4 และ 5 ...... มีบ้างไหม ถูกแก้ไข ซ่อมแซม ปกปิดตำหนิ ?


เหรียญกษาปณ์ทองคำ รัชกาลที่ 4 แต้เม้งทงป้อ Tae Meng Tong Pao ตำลึงทอง มีรอยตัดห่วง คงเหลือแต่รอยเชื่อม

          อีกสิ่งหนึ่ง คือ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยการนำเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน หรือ เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก มาชุบทอง แต่งลาย เพ้นท์สี ให้ดูประหนึ่งเป็นรุ่นพิเศษ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากเหรียญธรรมดา ซึ่งหารู้ไม่ว่า เหรียญกษาปณ์ที่มีค่าสูงสุดของแต่ละรุ่น คือ เหรียญฯ สภาพงาม สมบูรณ์ ไร้ตำหนิ เกรด FDC (Fleur de coin) คือ Mint state สวยสมบูรณ์ตรงจากเครื่องปั๊ม หรือ รองลงมาได้แก่ Unc (Uncirculated) มิรอยตำหนิบ้างจากการบรรจุ เสียดสีจากการจัดเก็บ ไม่ผ่านการใช้หมุนเวียน ด้วยเหตุนี้ เหรียญฯ ที่ผ่านการชุบ แม้นไม่ผ่านการใช้งาน ไม่ถือเป็นเกรด FDC หรือ เกรด Unc กลับเข้าข่ายเป็นเหรียญฯ ถูกแก้ไขแปรสภาพ ส่วนการเพ้นท์สี แต่งลาย ส่อให้เข้าข่ายต้องสงสัย ปกปิดตำหนิข้อบกพร่องทางกายภาพ เหรียญฯ ประเภทนี้ถูกจัดให้เป็นเครื่องประดับ ไม่เข้าข่ายเหรียญกษาปณ์ ไม่เป็นที่ยอมรับ ของนักสะสม นักกษาปณ์วิทยา

          เหรียญฯ พิเศษ ถ้าสุดยอดหายาก ย่อมมีข้อยกเว้น

          ข้อความต่อไปนี้ ประกอบด้วยภาพ CNG Lot number: 2396 คัดลอกมาจากการปิดประมูลขายเหรียญกษาปณ์ทองคำ พระเจ้า Jahangir แห่ง ราชอาณาจักรโมกุล อินเดีย โดย Classical Numismatic Group, New York. Auction Triton XIX. วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558


เหรียญฯ ทองคำ พระเจ้า Jahangir แห่งราชวงศ์โมกุล อินเดีย มีรอยตัดห่วงด้านบนพระเศียร

Sale: Triton XIX, Lot: 2396, Estimate 20,000 US$.
Sold for 400,000 US$. This amount does not include the buyer's fee.

INDIA, Mughal Empire. Nur al-Din Muhammad Jahangir. AH 1014 - 1037 / AD 1605 - 1627. AV Mohur (23 mm. 10.99 g. 11 h). Portrait type Class A. Dually dated AH 1020 and RY 6 (16 march - 14/23 October AD 1611). Shabih-e Jahangir Shah Akbar Shah (Likeness of Jahangir Shah (son of Akbar)) in Persian to left, Sarnat 6 Jalus (regnal year 6) in Persian to right, bust left, left hand resting hand on throne. / Lion recumbent left, radiate sun behind, Sonat 1020 Hijri (year 1020 of the Hijra) in Persian to right. VF, remain of suspension loop mounting. Very rare contemporary issue presented to prefered courtiers.

เหรียญฯ ทองคำ พระเจ้า Jahangir นี้ สุดยอดหายาก พิมพ์นี้เท่าที่พบและรับรู้ มีเพียง 5 เหรียญ แม้นมีตำหนิ คือ รอยตัดห่วงก็ตาม ยังถูกประมูลด้วยราคา 400,000 US$ ราคานี้ ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมการประมูลอีก 20 เปอร์เซ็นต์

          เหรียญฯ ปลอม คือ เหรียญฯ ไม่มีค่าย่อมไร้ราคา ทราบไหมว่า ทุกวันนี้มีเหรียญฯ ปลอม เลียนแบบ กลุ่มหนึ่ง เป็นที่ยอมรับของนักสะสมเหรียญฯ ภาพข้างล่างนี้ เป็นสมบัติของ Ashmolean Museum of Art and Archeology, University of Oxford, England.


เหรียญกษาปณ์ทองคำชุด 12 จักรราศีของพระเจ้าจาหังกีร์ Ashmolean Museum, Oxford University.
เหรียญแรกซ้ายมือแถวบนสุดเป็นเหรียญปลอม นอกนั้น ทั้ง 11 เหรียญ เป็นเหรียญฯ แท้ ผลิตโดยราชสำนักราชวงศ์โมกุล อินเดีย

          พระเจ้าจาหังกีร์ (Jahangir) แห่งราชวงศ์โมกุล อินเดีย ได้ผลิตเหรียญฯ กษาปณ์ทองคำเกียรติยศภาพบุคคล และ ภาพชุด 12 จักรราศี ตามคติของชาวตะวันตก แบบอย่างชาวคริสต์ ซึ่งขัดต่อหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม ห้ามมิให้มีรูปภาพบุคคล หรือ ภาพสัตว์ พระเจ้าจาหังกีร์เจตนาทำขึ้น เพื่อมอบให้ผู้ใกล้ชิด สนม เจ้าเมือง และ ทูตต่างเมือง เนื่องจากผลิตจำนวนน้อย เป็นที่นิยม และ ต้องการของคนทั่วไป จากนั้นมาจวบปัจจุบัน จึงเป็นเหรียญฯ มีชื่อเสียง

          ครั้นเมื่อ พระเจ้าชา จาฮัน (Shah Jahan) ราชบุตร ผู้สร้างทัชมาฮาล ได้ขึ้นครองราช สืบราชสมบัติต่อมา ความที่พระองค์เป็นผู้เคร่งศาสนาอิสลาม จึงได้ออกกฏห้ามมิให้มีการผลิตเหรียญฯ ดังกล่าว ทรงเรียกคืนท้องพระคลังเพื่อหลอมทำลาย หากพบว่าผู้ใดมีไว้ในครอบครอง ผู้นั้น จะมีความผิดโทษถึงประหาร ด้วยเหตุนี้ เหรียญกษาปณ์ทองคำเกียรติยศที่มีภาพบุคคล และ ภาพสัญลักษณ์จักรราศี เช่นว่านี้ จึงหายไปจากระบบเงินตรา กลายเป็นของหายากที่สุดในบรรดาเหรียญกษาปณ์ทั้งปวง ของอินเดียแต่นั้นมา

          ทุกวันนี้ มีพิพิธภัณฑสถานไม่กี่แห่ง ครอบครองเหรียญฯ บุคคล และ จักรราศี ของพระเจ้าจาหังกีร์ของแท้ครบชุด แต่ โดยที่พิพิธภัณฑ์ สมาคมฯ นักสะสมเหรียญกษาปณ์ นิยมเสาะหา ต่างมีไม่ครบชุด อาจจะขาดบางเหรียญฯ ดังนั้น การแสดง นำเสนอ และ เพื่อความเข้าใจชุดเหรียญฯ จำต้องซื้อหาเหรียญฯ ปลอม ทำใหม่ เพื่อประกอบให้ดูครบชุด ด้วยเหตุนี้ เหรียญฯ บุคคล และ เหรียญจักรราศี ปลอม หรือ ทำใหม่เลียนแบบ ผลิตจากทองคำแท้ คุณภาพใกล้เคียง ได้รับการยอมรับ ซื้อขายในราคาแพง กว่าราคาน้ำหนักของทองคำประมาณ 3 - 4 เท่า

          ข้อความต่อไปนี้ ประกอบด้วยภาพ CNG Lot number: 996 คัดลอกมาจากการปิดประมูลขายเหรียญกษาปณ์ทองคำ จักรราศี สิงโต พระเจ้า Jahangir แห่ง ราชอาณาจักรโมกุล อินเดีย โดย Classical Numismatic Group, New York. Auction 389. วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2560


เปรียบเทียบเหรียญฯ ทองคำ จักรราศี สิงโต (Leo) แท้ และ ปลอม พระเจ้า Jahangir แห่งราชวงศ์โมกุล อินเดีย

Sale 389, Lot: 996, Estimate 500 US$.
Sold for 11,000 US$. This amount does not include the buyer's fee.

INDIA, Mughal Empire. Nur al-Din Muhammad Jahangir. AH 1014 - 1037 / AD 1605 - 1627. AV Mohur (22 mm. 11.00 g. 6 h). Zodiac type likely a restrike from the 18 th or 19 th century struck at Agra. Triply dated AH 1028, year 6, and RY 14 (19 December AD 1618 - 14/23 October AD 1619). Constellation of Sher/Singha (Leo the lion): lion, with left forepaw raised, standing right; radiate sun behind; RY date formula to right / Persian couplet citing Jahangir and mint; AH date to left additional numerical 6 below. VF, lightly toned, traces of deposits.

เหรียญฯ จักรราศี ทองคำ พระเจ้า Jahangir ทุกพิมพ์ ทุกราศี ล้วนสุดยอดหายาก เหรียญฯ จักรราศีสิงโต (Leo) ปลอม หรือ ที่นักกระษาปณ์วิทยานิยมเรียกว่า เหรียญทำใหม่ (Restruck) นี้ ถูกประมูลด้วยราคา 11,000 US$ ราคานี้ ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมการประมูลอีก 20 เปอร์เซ็นต์ หากเป็นเหรียญฯ จักรราศีสิงโต (Leo) แท้ (รูปบน) ราคาจะสูงกว่า 450,000 US$

          จำเป็นหรือไม่ ! ประกาศนียบัตรรับรองความเป็นเหรียญฯ แท้ คุณภาพ grading


เหรียญกษาปณ์ รับรองความแท้ และ ระบุระดับคุณภาพความคมชัด โดยบริษัท NGC ปิดผนึกแน่นหนาในตลับพลาสติกใส

          ในการสะสมเหรียญฯ สภาพของตัวเหรียญ จะเป็นตัวบ่งบอก กำหนดราคาเบื้องต้น เหรียญที่มีสภาพคมชัด สึกหรอน้อย ย่อมได้ราคาสูงกว่าเหรียญที่มีสภาพด้อย หากเหรียญมีสภาพสึกกร่อน เลือนลาง ย่อมด้อยค่ามาก

          กลางคริสต์ศัตวรรษที่ยี่สิบ ตลาดเหรียญฯ มีค่า เติบโตมาก American Numismatic Association ได้กำหนดมาตรฐาน คุณภาพของตัวเหรียญ เป็นตัวเลข จาก 1 แย่มาก (Poor) ถึง สูงสุด 70 ดีเยี่ยม (Mint state) และ สุดยอด คือ เหรียญขัดเงา (Proof coins) ซึ่งในทางปฏิบัติมีปัญหามาก หากนำเหรียญเดียวกัน นั้น ไปตรวจคุณภาพ จากต่างบริษัทฯ จะได้ค่าตัวเลข คะแนนคุณภาพของตัวเหรียญ แตกต่างกัน เนื่องจากตรวจสอบด้วยสายตา คะเนให้คะแนนจากความรู้สึกเฉพาะตน น่าเชื่อถือเพียงไร ? เพราะตามหลักการคัดเลือก ในกลุ่มเหรียญที่เหมือนกัน เหรียญที่มีความคมชัด ลายละเอียดครบถ้วนมากกว่า ย่อมมีคุณสมบัติเหนือกว่า อย่างไรก็ดี ในการซื้อขายเหรียญ ย่อมมีการระบุคุณภาพของเหรียญ นั้นๆ ว่า สภาพดี ดีปานกลาง ดีมาก หรือ ดีเยียม ฯลฯ ความสำคัญ จึงอยู่ที่ผู้ซื้อต่างหาก จะยินดีจ่าย ในราคาที่เห็นด้วยตาตนเอง

          ส่วนใบรับรอง (Certificates) ความจริงแท้ของตัวเหรียญ พร้อมกล่องพลาสติคใส ปิดผนึกบรรจุรับรองตัวเหรียญ เพื่อป้องกันการสับเปลี่ยน นั้น มีความสำคัญมากกว่า ได้ถือกำเนิด และ เป็นที่ยอบรับในปี 1980 ด้วยวัตถุประสงค์หลัก คือ สกัดเหรียญปลอม เหรียญนอกระบบ ทำเทียม เลียนแบบ (Counterfeits) เพื่อความมั่นใจ และ ความน่าเชื่อถือ แก่ผู้ซื้อ ผู้ขาย และ นักสะสม

          บริษัทฯ ทำธุรกิจรับตรวจสอบ ออกใบรับรองความจริงแท้ และ ระดับชั้นคุณภาพความคมชัดของเหรียญฯ (Coin Authentication and grading) มีดังนี้

PCGS Professional Coin Grading Service (1986).
NGC Numismatic Cuaranty Corporation (1987).
ANACS American Numismatic Association Certification Service (1979).
ICG Independent Coin Graders (1998).

PCI, SEGS, ACG, NTC, HCGS, ACCGS, SGS และ อื่นๆ

          เพียง 4 บริษัทฯ เท่านั้น คือ PCGS และ NGC ได้รับการยอมรับและเชื่อถือมากที่สุด ส่วน ANACS และ ICG เชื่อถือได้ แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าสองบริษัทฯ แรก นอกนั้น ไม่น่าเชื่อถือ!

          เหรียญฯ ใดที่ได้รับการรับรอง จะมีหมายเลขทะเบียนกำกับ เป็น บาร์โค๊ต คิวอาร์โค๊ต บันทึกเก็บข้อมูลคุณสมบัติไว้ในคอมพิวเตอร์ศูนย์ (Server) ของบริษัทฯ เพื่อง่ายต่อการเข้าถึง ตรวจสอบทางออนไลน์ (On line) หากต้องการภาพถ่ายความละเอียดสูง บริษัทฯ ยินดีให้บริการจัดทำภาพถ่าย ด้านหน้า (หัว) และ ด้านหลัง (ก้อย) วิเคราะห์องค์ประกอบส่วนผสมของโลหะ (X-ray Fluorescence Spectroscopy) วัดค่าความถ่วงจำเพาะ (Specific gravity) จากนั้น บันทึกเลขทะเบียน รับรองคุณสมบัติ ฯลฯ ตัวเหรียญฯ จะถูกปิดผนึกในตลับพลาสติกใส แน่นหนาเปิดไม่ได้ ป้องกัน อากาศ ความชื้น และ การสับเปลี่ยนตัวเหรียญ ด้วยเหตุนี้ โบราณวัตถุใด หากมีเอกสารรับรองจากบริษัทฯ เหล่านี้ สิ่งของนั้นๆ ถือว่าได้ผ่านการตรวจสอบ รับรอง ความเป็นเหรียญฯ แท้ หรือ เหรียญฯ ทำเทียม เลียนแบบ เป็นที่ยอมรับ และ น่าเชื่อถือ ของประชากรซีกตะวันตก

          การนี้ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องพึ่งพา การรับรองความจริงแท้ และ คุณภาพของเหรียญฯ จาก บริษัทผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ หากสิ่งของที่เราครอบครองเป็นของแท้ จากคุณสมบัติในตัวของมันเอง เรื่องนี้ เป็นข้อถกเถียงของเหล่านักสะสมทั้งหลาย เพราะทุกวันนี้ ยังมีเหรียญฯ โบราณจำนวนไม่น้อย ที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน อาจจะมี พิมพ์ หรือ รูปแบบ ที่ต่างไปจากที่เคยรับรู้ จากการขุดค้นพบใหม่อยู่เนืองๆ บริษัทฯ ดังกล่าว เหล่านี้ กล้าให้ความเห็นอย่างไรกับเหรียญพบใหม่เหล่านี้ ในเมื่อทุกบริษัทฯ อยู่ต่างซีกโลก ล้วนยึดถือคู่มือ แคตตาล๊อคเหรียญกษาปณ์โบราณของพิพิธภัณฑ์ และ เอกสาร คู่มือ จากสำนักกษาปณ์วิทยา ของแต่ละประเทศเป็นหลักอ้างอิง ทั้งๆ ที่ นักโบราณคดีของพิพิธภัณฑ์ เกือบทุกแห่ง ยอมออกใบรับรอง ความเป็นโบราณวัตถุ อนุญาตให้นำออกนอกประเทศได้ หรือ ห้ามนำออกนอกประเทศ ไม่ออกเอกสารรับรองใดๆ กำกับเหรียญแท้ เหรียญปลอม แม้แต่ธนาคารแห่งชาติบางประเทศ ที่มีห้องแสดงเงินตรา (Money Museum) ถ้าต้องรับรอง ก็จะออกใบรับรองเฉพาะสิ่งที่ธนาคารแห่งชาติฯ นั้นๆ เป็นผู้ผลิตเท่านั้น

          จากข้อเท็จจริง เหรียญต่างๆ ที่เข้าสู่ห้องประมูลซื้อขายทั่วโลก ล้วนมาจากเหรียญฯ ปราศจากการรับรอง หรือ ประกาศนียบัตรใดๆ ดูได้จากภาพในแคตตาล๊อคที่นำเสนอขาย ส่วนมากจะเป็นรูปตัวเหรียญเปลือยเปล่า หากมี จะเป็นรูปเหรียญบรรจุอยู่ในตลับพลาสติกใส ปิดผนึกแน่นหนา ระบุชื่อ บริษัทฯ ผู้รับรอง เกรดคุณภาพ ความจริงแท้ ซึ่งมีไม่ถึง 0.1 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนเหรียญเข้าตลาดประมูล และ ไม่เสมอไป เหรียญฯ ซี่งได้รับการรับรองเหล่านี้ มีหลักประกันว่าน่าซื้อ ?

          บริษัทประกอบธุระกิจ รับประมูลขายโบราณวัตถุ อาทิ เช่น Sotheby's, Christy's, Spink, CNG และอื่นๆ ยินดีรับเหรียญ เปลือยเปล่า ปราศจากเอกสารกำกับรับรองใดๆ เพราะบริษัทเหล่านี้ เป็นมืออาชีพ ประกอบอาชีพด้านนี้มานาน มีประสบการณ์ มีผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา มีหน้าที่ต้องตรวจสอบก่อนที่จะรับดำเนินการ บรรจุรายการ เพื่อประกาศขายในแคตตาล๊อคของบริษัทฯ หรือ สื่อสาธารณะต่างๆ บริษัทฯ เหล่านี้ รู้ดี มีข้อมูลอ้างอิงมากมาย สามารถระบุได้ว่าเหรียญฯ แบบ ชนิด และ พิมพ์ นี้ ได้เคยปรากฏในตลาดการประมูลจากบริษัทฯ ใด กี่ครั้ง หลังสุดเมื่อใด เคยขายทอดตลาดกี่ครั้ง ผ่านการครอบครอง จากใคร ถึง ผู้ใด ราคาที่ออก ซึ่งในการประกาศขายแต่ละครั้ง บริษัทประมูลเหล่านี้ จะประมาณราคา กำหนดราคาประมูลเริ่มต้นขั้นต่ำ สภาพของตัวเหรียญฯ มีความคมชัดจะดับใด หายากมากน้อยเพียงไร มีจำนวนกี่เหรียญ มีเก็บรักษา อ้างอิง พิพิธภัณฑ์ สมาคมฯ สำนักกษาปณ์วิทยา แห่งใด นักสะสมส่วนบุคคลใด

          ทุกวันนี้ บริการอินเตอร์เน็ตสะดวก รวดเร็ว ติดต่อสื่อสารได้ทั่วถึงครอบคลุมไปทั่วโลก ค่าใช้จ่ายต่ำ ทุกผู้ทุกนาม สามารถนำเสนอเหรียญฯ ของตนบนอินเตอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย ถ้ามั่นใจว่าเหรียญฯ ของตนดีจริง ย่อมไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเอกสารรับรองใดๆ เพียงใช้ช่องทางอินเตอร์เน็ต ข้อสำคัญ ต้องนำเสนอภาพถ่าย สดใสชัดเจน สัดส่วนถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยน ไม่ผ่านการตกแต่งแก้ไข ความละเอียด และ ความคมชัดสูง ขนาดของภาพ ต้องไม่ต่ำกว่า 1,000 x 1,000 พิกเซล (Pixels) หรือ ขนาดใหญ่มากกว่านี้ เพราะลายเส้น รายละเอียด องค์ประกอบ แม้แต่ตำหนิต่างๆ จะชัดเจนมาก หากต้องการแสดงด้วยแผ่นภาพพิมพ์ ต้องพิมพ์บนกระดาษอัดภาพแบบมันวาว (Glossy photo papers) ไม่ควรต่ำกว่าขนาด A4 ระบุชนิดโลหะ ทองคำ อีเลคตั้ม (ทองคำ + เงิน) เงิน ทองแดง หรือ บรอนซ์ ฯลฯ ขนาดของตัวเหรียญ ความกว้าง หนา เป็น มิลลิเมตร น้ำหนักเป็นกรัม ประกอบด้วยภาพถ่าย ด้านหน้า (Obverse) ภาพด้านหลัง (Reverse) และ ภาพด้านข้างของตัวเหรียญ (Edge) ภาพด้านหน้าและด้านหลังของเหรียญ ทำมุมตรงกัน สลับกัน หรือ เยื้องกัน เช่น ตรงกัน 12 นาฬิกา หรือ สลับกัน 6 นาฬิกา หรือ เยื้องกัน 3 นาฬิกา (Die axis .... o'clock) ลักษณะด้านข้าง (Edge) รอบตัวเหรียญ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ อักขระ ถ้ามี .... เป็นต้น

          ข้อสังเกต เหรียญฯ ที่มีชื่อเสียง สมบัติส่วนบุคคล พิพิธภัณฑ์ สมาคมฯ สำนักกษาปณ์วิทยา ที่ถูกอ้างอิง นำเสนอในตำราวิชาการ ล้วนไม่มีเอกสารรับรอง (Certificates) ใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากเอกสาร สัญญากรมธรรม์ประกันภัย ประกอบด้วยภาพถ่าย ทุกซอกทุกมุม รายละเอียด ขนาดรูปพรรณสันฐาณ และ ตำหนิต่างๆ เหรียญมีค่าเหล่านี้ หากถูกจัดแสดง จะบรรจุอยู่ในกลางแผ่นกระจกนิรภัยบานใหญ่ ใส และ หนาเป็นพิเศษ เพื่อความปลอดภัยจากอุบัติเหตุ และ ป้องกันการโจรกรรม

          ตัวอย่าง เปรียบเทียบภาพการนำเสนอประมูลขายในแคตตาล๊อค เพื่อความเข้าใจ



เหรียญฯ ทองคำ พระเจ้า Jahangir แห่งราชวงศ์โมกุล ในตลับปิดผนึกแน่นหนาของ NGC ระบุ AU 58 ระหัส 3498262-003

เหรียญฯ ทองคำ พระเจ้า Jahangir แห่งราชวงศ์โมกุล อินเดีย เหรียญฯ เปลือยเปล่า

          ข้อความต่อไปนี้ ประกอบด้วยภาพ Sale 18 Lot 1187 คัดลอกมาจากการประมูลขายเหรียญกษาปณ์ทองคำ พระเจ้า Jahangir แห่ง ราชอาณาจักรโมกุล อินเดีย โดย Stephen Album Rare Coins.

Mughal: Jahangir, 1605-1628, AV portrait mohur (10.74g), NM, AH 1020 year 6, KM-179.4, BMC-315 (same dies), bust of Jahangir left, radiate, wearing turban with egret, holding goblet in right hand and book in left hand. Persian legend either side reading SHABIH JAHANGIR SHAH AKBAR SHAH at left and SANA SHESH JULUS to right, the regnal year is indicated by Persian word SHESH for the numeral 6 / lion to right surmounted by sun, Persian legend under, HIJRI and 1020 in numerals, within double circles with dots between, NGC graded AU 58, RRR

          ข้อความต่อไปนี้ ประกอบด้วยภาพ คัดลอกมาจากการปิดประมูลขายเหรียญที่ระลึก พระเจ้า หลุย์ที่ 14 โกษาปาน โดย Fritz Rudolf Kunker GmbH & Co. KG. Auction 371 22 June 2022


เหรียญฯ ทองแดงที่ระลึกการทูตราชอาณาจักรฝรั่งเศส-สยาม สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผลิตเพื่อเป็นเกียรติโดยราชสำนักฝรั่งเศส ในตลับปิดผนึกรับรองความเป็นของแท้ โดย NGC เลขที่ MS 62 BN(4977226-034) ประมูลขาย ที่ยุโรป เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ไม่มีผู้ซื้อ

Lot number: 3453
Estimate: 1500 EUR
Price realized: Unsold ไม่มีผู้ซื้อ

Lot description:
Thailand, Narai der Grosse, 1656-1688. Bronzemedaille 1686, unsigniert, auf den Empfang senior Botscahafter in Frankreich. Buste des Franzosichen Konigs Louis xiv r.// Louis xiv thront nach l, US-Plastckholder der NGC milh der Bawurtung MS G2 BN(4977226-034).

RR Vorgunglich-Stempelglanz


          ข้อความต่อไปนี้ ประกอบด้วยภาพ คัดลอกมาจากการปิดประมูลขายเหรียญที่ระลึก พระเจ้า หลุย์ที่ 14 โกษาปาน โดย Fritz Rudolf Kunker GmbH & Co. KG. Auction 371 22 June 2022


เหรียญฯ ทองแดงที่ระลึกการทูตราชอาณาจักรฝรั่งเศส-สยาม สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผลิตเพื่อเป็นเกียรติโดยราชสำนักฝรั่งเศส เหรียญเปลือยเปล่า ประมูลขาย ที่ยุโรป เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ได้ราคา 1200 EUR ราคานี้ ไม่รวมค่าธรรมเนียมการประมูล 20 เปอร์เซ็นต์

Lot number: 3454
Estimate: 1250 EUR
Price realized: 1200 EUR (Approx 1,262 USD) Note: Prices do not include byer fees.

Lot description:
Thailand, Narai der Grosse, 1656-1688. Bronzemedaille 1686, unsigniert, auf den Empfang senior Botscahafter in Frankreich. Buste des Franzosichen Konigs Louis xiv r.// Louis xiv thront nach l, vor ihm sich der drei Botschafter von Siam 41.18 mm, 37.92 g Divo 216.

RR Vorgunglich


          เหรียญที่ระลึก พระเจ้าหลุย์ที่ 14 โกษาปาน ทั้งสองเหรียญนี้ จากผู้ขายรายเดียวกัน โดยเหตุที่เหรียญที่ระลึกรุ่นนี้ มีปัญหา เพราะของปลอมแปลงทำใหม่ พบเห็นมากในยุโรป เหรียญเปลือยเปล่าไม่มีการรับรองใดๆ สัมผัส และ ตรวจสอบทางกายภาพได้อย่างง่ายดาย จึงมีผู้ซื้อประมูลไป แต่อีกเหรียญ คุณภาพดีกว่า มีการรับรองความแท้ และ คุณภาพ จากสถาบันมาตรฐาน NGC หุ้มห่อมิดชิด สัมผัสเนื้อในไม่ได้ ..... ไม่มีผู้ซื้อ !

          เหรียญโบราณ มีค่า มีราคา หากปราศจากเอกสารรับรองความแท้ สามารถตรวจสอบได้ จากประวัติการครอบครอง ซื้อขาย เปลี่ยนมือ ในอดีต

          ข้อความต่อไปนี้ ประกอบด้วยภาพ CNG Lot number: 2396 คัดลอกมาจากการปิดประมูลขายเหรียญกษาปณ์ทองคำ พระเจ้า Jahangir แห่ง ราชอาณาจักรโมกุล อินเดีย โดย Classical Numismatic Group, New York. Auction Triton XIX. วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558


เหรียญฯ ทองคำ พระเจ้า Jahangir แห่งราชวงศ์โมกุล อินเดีย มีรอยตัดห่วงด้านบนพระเศียร

Sale: Triton XIX, Lot: 2396, Estimate 20,000 US$.
Sold for 400,000 US$. This amount does not include the buyer's fee.

INDIA, Mughal Empire. Nur al-Din Muhammad Jahangir. AH 1014 - 1037 / AD 1605 - 1627. AV Mohur (23 mm. 10.99 g. 11 h). Portrait type Class A. Dually dated AH 1020 and RY 6 (16 march - 14/23 October AD 1611). Shabih-e Jahangir Shah Akbar Shah (Likeness of Jahangir Shah (son of Akbar)) in Persian to left, Sarnat 6 Jalus (regnal year 6) in Persian to right, bust left, left hand resting hand on throne. / Lion recumbent left, radiate sun behind, Sonat 1020 Hijri (year 1020 of the Hijra) in Persian to right. VF, remain of suspension loop mounting. Very rare contemporary issue presented to prefered courtiers.

From the collection of Dr. Lawrence A. Adams, purchase from M. Louis Teller, June 1981.


          ข้อความต่อไปนี้ ประกอบด้วยภาพ NGA Lot number: 28 Auction 11 คัดลอกมาจากการเปิดประมูลขายเหรียญกษาปณ์ทองคำ พระเจ้า Jahangir แห่ง ราชอาณาจักรโมกุล อินเดีย โดย Numismatica Genevensis SA, Switzerland. วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562


เหรียญฯ ทองคำ พระเจ้า Jahangir แห่งราชวงศ์โมกุล อินเดีย มีรอยตัดห่วงด้านบนพระเศียร

Starting price: 200,000.00 CHF

An extremly rare early portrait of JAHANGIR.
Nur al-Din Muhammad Jahangir. AH 1014 - 1037 (1605 - 1627 CE). AV Mohur AH 1020, regnal year 6 (1611 CE), Agra of Jahangir facing left on the surface of the radiant sun wearing a turban with an egret (Jikkah) and a brocaded costume, holding a book in his left hand to left "Shabiva Jahangir Shah Akbar Shah", to right downwards "Sana 6 Julu"/ Lion facing left on a setting sun, below "Sena 1020 Hijri". 10.97 g. BMC Mughal 312 (same dies); KM 179.1 (same dies); Fr 758; Liddle Andrew, coin of Jahangir, 2013 (Liddle Jahangir), Type 633 (same dices).

From the collections John Work Garrett, auction Leu/NFA Part 1 (16 May 1984), 476 (purchase from Max Schulman, 11 November 1928), Hennessey and Dr. Lawrence A. Adams auction CNG Triton XIX (4 January 2016), 2396.

Grading/Status: Very fine, trace of mounting.

          ตลับพลาสติกใสตามแบบ ของ PCGS และ NGC ถูกลอกเลียน ปลอมแปลงขาย ตรวจพบ และ จับกุมในหลายประเทศ จะมั่นใจอย่างไร หากบนตลับมีป้ายสติกเก้อร์ เครื่องหมายภาพพิมพ์สามมิติตราของบริษัทฯ ตรวจสอบทางอินเตอร์เน็ต อ่านเลข รหัสบาร์โค๊ต คิวอาร์โค๊ต บนตลับจากทะเบียนต้นทางของบริษัทฯ ได้รับข้อมูลตอบกลับ ตรงตามคุณสมบัติของเหรียญฯ ที่พิมพ์ปรากฏบนสติกเกอร์ ติดผนึกอยู่บนตลับนั้นๆ ในขณะเดียวกัน ปรากฎว่า ยังมีเหรียญแบบเดียวกันในมือของผู้เสนอขายอีกหลายเหรียญ บรรจุอยู่ในตลับปิดผนึกมี ระหัสบาร์โค๊ต คิวอาร์โค๊ต แบบเดียวกัน ทุกประการ .... สถานะของเหรียญเหล่านี้ คงไม่ต่างจากธนบัตรปลอม ที่มีรูปแบบ เลขกำกับซ้ำๆกัน หลายฉบับ !

บทสรุป

          ปี ค.ศ. 2023 มูลค่าตลาดทั้งโลกของเหรียญกษาปณ์ ประมาณ แปดพันล้านเหรียญสหรัฐ คาดกันว่า ตลาดเหรียญกษาปณ์ทั้งโลก ในอีกห้าปีขางหน้า จะเติบโตโดยรวมมากกว่า หนึ่งหมื่นเก้าพันล้านเหรียญสหรัฐ จากการเพิ่มขึ้น ของเหล่านักสะสม และ มูลค่าของเหรียญกษาปณ์ ด้วยเหตุผล 10 ประการ ดังนี้

(1.) เหรียญกษาปณ์ ใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยน นานนับพันปี เกี่ยวข้อง เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา สังคม การเมือง และ การปกครอง
(2.) เหรียญกษาปณ์ เป็นงานศิลป์ย่อส่วน มีความสวยงาม เสน่ห์ในตัวมันเอง
(3.) เหรียญกษาปณ์ มีความหลากหลาย บ้างหายาก เป็นที่เสาะหาของนักสะสม
(4.) เหรียญกษาปณ์ ก่อให้เกิดสมาคมฯ กลุ่มชนนิยมสะสมเหรียญกษาปณ์ พึงพอใจเป็นงานอดิเรก เกิดเป็นการค้า ซื้อขาย แลกเปลี่ยนในกลุ่ม
(5.) เหรียญกษาปณ์ มีส่วนช่วยในการศึกษา วิชาประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์
(6.) เหรียญกษาปณ์ เป็นช่องทางการลงทุนของผู้ที่ซื้อเวลา สร้างความมั่งคั่ง จากความหายาก เก่าเก็บ
(7.) เหรียญกษาปณ์เพื่อการสะสม เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของนักลงทุน เพื่อป้องกันความเสี่ยง จากความไม่แน่นอน
(8.) เหรียญกษาปณ์เพื่อการสะสม คือ ทรัพย์ ทุกผู้ทุกนามไม่ว่า ยากดี มีจน แตะต้องได้ สะสมได้ ยิ่งในภาวะไม่แน่นอนของยุคดิจิตัล เหรียญกษาปณ์ จะไม่อ่อนไหว ไม่เกี่ยวของกับเสถียรภาพ และ ทิศทางของระบบการเงินอีเลคทรอนิคส์ ใดๆ
(9.) เหรียญกษาปณ์เพื่อการสะสม เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สำคัญ หากในภาวะเศรษฐกิจ ฝืดเคีอง ตกต่ำ เงินเฟ้อสูง จะเป็นทางเลือกเพื่อรักษามูลค่าสินทรัพย์ไม่ให้ตกต่ำตาม
(10.) เหรียญกษาปณ์ เป็นมรดกเกียรติยศ ชื่อเสียง ตกทอด จาก รุ่นสู่รุ่น

ภาพ ส่งท้าย

          หนี่งในเหรียญกษาปณ์สวยที่สุด เหรียญเงินกรีกโบราณ 405 - 400 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ขุดพบที่เกาะซิชิลี Sicily น้ำหนัก 16.9 กรัม


Sicily.
The most important Greek silver coin ever sold by Numismatica Genevensis SA.
Syracuse, Silver tetradrachms, signed by Kimon, circa 405-400 BC. Head of APEΘOΣA Arethusa facing, slightly in clined to the left, wearing two necklaces; her hair flows on soft waves around her head; on the ampyx over her forehead, the signature KIMΩN; on right two dolphins swimming and a third emerging from the hair to the left / ΣYPAK OΣIΩN Quadriga galloping to the left; the charioteer, holding reins and kentron, looks back at his pursuers; above Nike presenting a wreath to the charioteer; ear of barley in exergue. 16.9 g.

Certainly the most beutiful greek coin in private hands. A masterpiece of sublime style. Extremely rare.


หมายเหตุ ส่งท้าย

          เครื่องมือวัด วิธี และ กระบวนการตรวจสอบ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่เพียงแต่ใช้ตรวจสอบเหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึก ทองแท่ง เครื่องประดับมีค่า สินแร่ โลหะต่างๆ ทว่ายังสามารถใช้ตรวจสอบพระเครื่องที่ทำจาก หิน ดิน ฝุ่น และ ผงที่เรียกรวมๆ กันว่า มวลสาร หากมีการตรวจสอบและกระทำอย่างจริงจัง ผู้ตรวจมีความเป็นกลาง บรรดาพระเครื่อง พระผง ที่มีชื่อเสียงในทำเนียบของเหล่านักเลงพระ ของนักสะสมทั้งหลาย จะถูกจัดอันดับ และ สะสางจำนวนพระแท้เป็นการใหญ่ เพราะเท่าที่ผ่านมาล้วนถูกชี้เป็นชี้ตาย จากผู้ที่ได้ชื่อว่า เซียนพระ ซึ่งมีเพียงเล็นส์พกพากำลังขยายไม่เกิน 10 เท่า บวกกับความจำ และ ประสพการณ์เฉพาะตัวเท่านั้น

          เหรียญพระ เครื่องราง ของขลัง ยันต์ ฯลฯ ที่ผลิตจากโลหะ วิธีการตรวจสอบไม่ต่างจากกระบวนการตรวจสอบเหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึก ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น แต่ หากเป็นพระผง พระดิน หิน กรวด ทราย ชิ้นส่วนจากทรากสัตว์ ฯลฯ จำต้องมีกระบวนการเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง เครื่องตรวจ XRF จะต้องใช้ซอฟแวร์ ประเภทตรวจสอบอินทรีย์วัตถุ

          พระเครื่อง พระผง ที่ทำขึ้นด้วยการปั้น กดพิมพ์ สามารถทำให้เป็นพระเก่าโบราณ หรือ ให้เหมือนของจริงของแท้ได้ ทำให้แกร่งและแห้ง อบด้วยอุณหภูมิที่ควบคุมได้ กลบเกลื่อนเคลือบผิวด้วยเศษผงเดิมจากพระที่ชำรุดแตกหัก ปิดทอง ทาลัก ฯลฯ แต่สิ่งหนึ่ง คือ ส่วนผสมขององค์ประกอบจากวัสดุต่างๆ ที่นำมากดบีบอัดขึ้นรูปเป็นองค์พระนั้น พระผงของแท้มีสัดส่วนเช่นไร ยังไม่เคยปรากฎข้อมูลให้เห็น ลักษณะ รูปลักษณ์ ของส่วนผสมจากมวลสารต่างๆ เหล่านั้น ขยายด้วยกล้องจุลทัศน์ ตรวจวัดจำแนกสัดส่วนจำนวนของส่วนผสม และความถ่วงจำเพาะของพระเครื่อง พระผง แต่ละรุ่น แต่ละแบบ

          ไม่เหมือนเหรียญพระต่างๆ ที่ปั้มจากโลหะ ไม่ว่ารุ่นแบบหายาก มีค่า หรือ รุ่นนิยม ปัจจุบันมีข้อมูลจำเพาะ รูปถ่าย จำแนกแยกแยะ ชี้ตำหนิ จุดจับผิด ให้ศึกษาเปรียบเทียบ มากมาย

          หากมีการนำพระเครื่อง พระผง ที่มีชื่อเสียง หรือ พระที่มีข้อสงสัยกังขา มาตรวจสอบเปรียบเทียบกับพระเครื่อง องค์ที่น่าเชื่อถือยอมรับว่าเป็นของแท้จริง เพื่อหาความเป็นของแท้ด้วยเครื่องมือเหล่านี้ แน่นอน ย่อมก่อให้เกิดข้อถกเถียงโต้แย้งในหมู่เซียนพระ และ เซียนพระกับนักวิชาการ

          ความเป็นวิทยาศาสตร์นี้ ช่วยพิสูจน์ด้วยเหตุและผล จะก่อประโยชน์แก่วงการพระเครื่องให้มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือ ของเก่าดั้งเดิมจากแม่พิมพ์แกะด้วยมือ จากข้อเท็จจริง มีปรากฏหลงเหลือ ให้เห็นไม่กี่ชิ้น ส่วนที่เห็นล้วนมีข้อกังขา ถ้ายินดีพร้อมใจช่วยกันตรวจสอบ ผลลัพธ์ คือ ของทำเทียม ปลอม จะกลายเป็นของชำร่วย ส่วนของแท้จะกลายเป็นของมีค่า ภูมิใจที่ได้ครอบครอง ก่อให้เกิดศาสตร์ใหม่ ด้าน Amulets, Talismans. เพราะมีมาตรฐาน เชื่อถือได้

          ข้อสำคัญ พระเครื่องที่จะรับการตรวจด้วยกล้องจุลทัศน์ควรส่องตรวจดูผิวจากด้านหลังด้วยการฝนหรือขัดเบาๆ เพื่อให้เห็นเนื้อแท้ข้างใน ควรเป็นตรงกลาง พื้นที่เล็กๆ เท่าที่จำเป็น กระทำด้วยความระมัดระวัง ต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์พระ แต่ถ้าต้องการความถูกต้องเที่ยงตรง และ ไม่กระทบต่อผิวขององค์พระ (ปราศจากการ ขูดขีด ขัดถู ขุดเจาะ ใดๆ) ต้องอ่านค่าด้วยเครื่อง XRF X-ray Fluorescence Spectroscopy ต้องมีเอกสารกำกับ ระบุตำแหน่งตรวจสอบจากส่วนใดขององค์พระ รายละเอียดส่วนผสมของโลหะ หรือ มวลสารต่างๆ อย่างละเอียด มีหน่วยเป็น ppm หรือ เปอร์เซ็นต์ ชื่อ สำนักฯ ผู้ตรวจสอบ ฯลฯ

          ส่วนการที่จะตรวจหาอายุของพระเครื่อง ต้องตรวจด้วยรังสี นำองค์พระมาบดตำให้ละเอียดเพื่อตรวจหาอายุจากค่ารังษีในอินทรีย์วัตถุจากผงที่ถูกบด ด้วยเหตุเช่นว่านี้ ไม่สมควรกระทำ เพราะการที่จะรับรู้อายุสิ่งของด้วยการทำลาย ย่อมไม่คุ้มค่า และ ไม่สำคัญเท่ากับการรับรู้ความเป็นของแท้ของจริง เชื่อใหมว่าพระเครื่องและเหรียญพระ เก่าแก่ มีค่า ราคาแพง ทั้งหลายในมือนักสะสมส่วนใหญ่ มีรูปทรง รูปแบบ สวยงาม ตำหนิ ตำแหน่ง ถูกต้อง มีครบถ้วนทุกประการ หากถูกชี้ ระบุจากกระบวนการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ว่า เป็น ของเทียม Replicas ! ...... คงทะเลาะกันไม่จบ ...... ทุกวันนี้ มีนักสะสมพระเครื่องจำนวนไม่น้อยพูดเสมอว่า พระองค์นั้น องค์นี้ อายุพันกว่าปี แต่วิชาโบราณคดีของไทย ไม่เคยยอมรับพระเครื่องใดๆ ในปรเทศไทย มีอายุเกินกว่า 800 ปี


ฝากให้คิด


          เมื่อเวลาผ่านไป นักสะสมพระเครื่อง เครื่องราง วัตถุมงคล ฯลฯ ล้วนมีประสบการณ์ รู้จักใช้กล้องขยาย จุลทัศน์อีเลคโตรนิคส์ประสิทธิภาพสูง ถึงขั้นตรวจดูองค์ประกอบด้วย กล้องจุลทัศน์อีเลคตรอน SEM เครื่องมือเหล่านี้ ช่วยให้นักสะสมพระเครื่อง แยกแยะ ของแท้ ของปลอม ทำเทียม เลียนแบบ ได้ชัดเจนขี้น ยกระดับ เหรียญพระ เกจิ เหรียญที่ระลึก ต่างๆ ที่เป็นของแท้ เป็นที่ยอมรับ และ เชื่อถือมากขึ้น ทำให้คุณค่า และ ราคาเพิ่มทวีคูณ เพราะของแท้มีจำนวนน้อย ทำให้เหรียญพระ เกจิ ฯลฯ ถูกยอมรับ เป็นศาสตร์ส่วนย่อยแขนงหนึ่ง ของวิชากษาปณ์วิทยา Numismatics

          เหรียญพระที่ผลิตจากโลหะ ชิ้นใดเป็นของแท้ตรงตามพิมพ์ อันไหนเป็นของถอดพิมพ์ ถูกตกแต่ง แก้ไข ทำปลอม เลียนแบบ มีกระบวนการตรวจสอบที่ไม่ซับซ้อน เพียงกล้องจุลทัศน์ และ เครื่อง XRF สำหรับตรวจโลหะ ย่อมเพียงพอ

          ปัญหาทุกวันนี้ อยู่ที่พระผง พระดิน ทั้งหลาย ยิ่งตรวจ ยิ่งจับผิด ยิ่งสับสน เนื่องจากรูปทรง พิมพ์ ตำหนิ ล้วนถูกต้องจากต้นตอ การถอดพิมพ์ที่เป็นของแท้ต้นแบบ หรือ ถอดพิมพ์ซ้อนจากพิมพ์แท้เดิม จากรุ่นสู่รุ่น จนแทบไม่รู้ว่า อันไหนเกิดก่อนเกิดหลัง ตรจสอบอ่านค่าด้วยเครื่อง SEM Scanning Electron Microscope แทบจะเห็นทุกอย่าง กว้างเกินความจำเป็น แต่ไม่สามารถระบุ จำนวน คำนวณ นับสัดส่วน ของแร่ธาตุ วัสดุ ที่ใช้สร้าง

          พระผง พระดิน ทั้งหลาย ล้วนทำจาก ปูน ดิน หิน ทราย ฯลฯ เจือปนด้วยแร่ธาตุต่างๆ ที่มีอยู่ในดิน บวก วัสดุปลีกย่อย ที่ถูกเรียกว่ามวลสาร สารพัดสารเพ ซึ่งมวลสารเหล่านี้ คือ มูลเหตุแห่งข้อกังขา ข้อถกเถียง ในทางตรวจสอบ นั้น เราต้องการทราบ อย่างยิ่ง คือ ความชัดเจนของ ปริมาณ จำนวน ชนิด ที่แท้จริงขององค์ประกอบต่างๆ ในองค์พระ ควรตรวจสอบอ่านค่าด้วยเครื่อง XRF X-ray Fluorescence Spectroscopy ที่มีโปรแกรม (Softwares) ตรวจ โลหะ อินทรีย์วัตถุ วัสดุ ผลที่ได้คือ ปริมาณ และ จำนวน ของทุกอย่าง ไม่ว่า โลหะ วัสดุ และ มวลสารต่างๆ ที่ประกอบกันในองค์พระ เพื่อไปเปรียบเทียบ อ้างอิงกับข้อมูล XRF ของพระมาตรฐานองค์แท้

          ปัญหาทุกวันนี้ คือ ข้อมูลจากการอ่านค่ามาตรฐานของพระผง พระดิน องค์แท้ไม่มีให้อ้างอิง ไร้มาตรฐานที่ยอมรับได้ ขาดความน่าเขื่อถือ หากยังคงเป็นเช่นนี้ ผลลัพธ์ที่ตามมา พระผง พระดิน ฯลฯ จะไร้ความนิยม เพราะ จุดด้อยที่สำคัญ คือ ล้วนสร้างจากการกด ถอดพิมพ์ จาก ยาง ปูนพลาสเตอร์ ดินเหนียว ดินจอมปลวก เรซิ่น ฯลฯ ค่าใช้จ่ายต่ำ กระบวนการผลิตไม้ซับซ้อน ปลอมแปลงได้ง่ายระดับครัวเรือน

          ในอดีตที่ผ่านมา การสะสมดวงตราไปรษณีย์ เคยเป็นที่นิยมของคนทั่วโลก ไม่ว่า เด็ก ผู้ใหญ่ ทุกชนชั้น ต่างลุ่มหลงคลั่งไคล้ เพราะหาง่าย มีอยู่ทั่วไป พบเห็นได้ทุกหนทุกแห่ง ถูกกำหนดในหลักสูตรของนักเรียนเด็กเล็ก ให้เป็นวิชาเลือกงานอดิเรก เป็นสินทรัพย์ของนักลงทุน ..... เมื่อเวลาผ่านไป โลกเปลี่ยน ความคิด ความนิยมการสะสมดวงตราไปรษณีย์ ค่อยๆ เหือดหาย ผู้คนทั่วโลกสนใจของหายาก (Unique) ผลิตจากทักษะสูง ท้าทาย ...... ความนิยมดวงตราไปรษณีย์ จึงถูกแทนที่โดยการสะสมเหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึก ..... ถ้าพระผง พระดิน ฯลฯ อยู่ในสภาพไม่น่าเชื่อถือ ขาดการยอมรับ ปราศจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ สนับสนุนเพียงพอ .... ฤา จะไร้เสน่ห์ตามรอย ดวงตราไปรษณีย์ เพราะเป็นการยาก ที่จะรับรอง ยึดถือได้ว่า ส่วนผสม มวลสาร ฯลฯ ที่ถูกต้องแท้จริง เป็นเช่นไร ซึ่งต่างจากเหรียญ ชิ้นงานที่ผลิตจากโลหะฯ มีรูปแบบ ลายเส้น ขนาด น้ำหนัก ถูกต้องตรงกัน ปั้มจากบล๊อคแม่พิมพ์เดียวกัน ถ้าเป็นรุ่นเดียวกัน ส่วนผสมของโลหะต่างๆ ต้องตรงกัน และ เท่ากันเสมอ

**********

          ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ท่านสามารถนำ ข้อเขียน เนื้อหา ไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องแจ้งแต่ประการใด ส่วนภาพประกอบในสาระน่ารู้เหล่านี้ได้คัดลอกมาจาก Internet Public Domains บางภาพอาจมีลายน้ำต้องคงไว้เป็นตัวอ้างอิงถึงที่มา ต้องให้ Credit แก่เจ้าของภาพ และ www.dandinth.com เพื่อประโยชน์ต่อการสืบค้น

คลิกที่นี่ เพื่อกลับไปเริ่มต้นอ่านใหม่

กลับไปหน้าหลัก