เลขที่สินค้า AM-055 คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่

พระพุทธรูปศิลา Granite เขียวอมเทา 8 ปาง Stele with eight great events from the life of the Buddha. ศิลปะอินเดีย สมัย วรรธนะ หรือ ปาละตอนต้น ราว พุทธศตวรรษที่ 13 หรือ 14 จาก คยา Gaya ประเทศอินเดีย ขนาด กว้าง 16 ซ.ม. สูง 25 ซ.ม. ฐานหนา 6 ซ.ม.

ด้านหน้า แกะสลักลอยองค์ ตรงกลาง ปางตรัสรู้ ณ พุทธคยา องค์ประธาน พระพุทธรูปครองจีวรห่มเฉียงบางแนบกายเป็นริ้วบางๆ ชายสังฆาฏิสั้นพาดจากด้านหลังขึ้นมาปล่อยชายแยกเป็นเขี้ยวตะขาบเหนือพระถันด้านซ้ายมีเส้นลากต่อเนื่องลงมา ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร คือ ประทับนั่งไขว้พระชงฆ์เห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง พระหัตถ์ขวาวางบนพระชงฆ์ เรียกว่าปางมารวิชัย มีหมอนพิงหลัง พนักบัลลังก์พิงหลังมีเสาตั้งเป็นแท่นสองข้างมีสายลูกปัดห้อยลงมา ปลายแท่นแต่ละข้างมีหงษ์ข้างละตัว หลังพระเศียรมีแผ่นประภามณฑลรูปวงรีมีเปลวรัศมีโดยรอบ รองประทับนั่งด้วยดอกบัวหงายบัวคว่ำ บนฐานวัชรอาสน์ มีสิงห์ 3 ตัว ใต้ฐานฯ ตรงกลางมี พระแม่ธรณี ชูผะอบบรรจุน้ำ เบื้องซ้าย พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปัทมะปาณี พระผู้ปกป้องรักษาคุ้มครองศาสนิกชน นั่งตะแคงเอียงไปทางเบื้องซ้ายถือดอกบัวก้านยาว เบื้องขวา พระโพธิสัตว์ไมตรีย์ คือ พระศรีอาริยเมตไตรย์ ที่จะเสด็จลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต นั่งตะแคงเอียงไปเบื้องขวาถือดอกอ้อก้านยาว ทั้งหมดอยู่ภายใต้ต้นศรีมหาโพธิ์สามกิ่งเบื้องบนที่ยื่นออกมา ใต้ฐานแท่นปรินิพพานอยู่ด้านบนสุด

ด้านล่างซ้าย ปางประสูติ ณ ลุมพินี พระนางมายาเทวีประทับยืน พระหัตถ์ขวาเหนี่ยวโน้มกิ่งต้นสาละ ให้ประสูติพระพุทธเจ้าออกทางบั้นพระเอวเบื้องขวาของพระนางฯ มีเทวดาตัวเล็ก คือ พระอินทร์คอยรับ เบื้องซ้ายของพระนางฯ มีรูปพระกุมารสิทธัตถะประทับยืน

ด้านซ้ายตรงกลาง ปางประทานปฐมเทศนา ณ สารนาถ พระพุทธเจ้าครองจีวรห่มคลุมมีริ้วประทับนั่งบนแท่นมีประภามณฑลแผ่นหลัง ทรงห้อยพระบาท พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นระดับอก จีบนิ้วพระหัตถ์เป็นรูปวงกลมแสดงเครื่องหมายกงล้อ ด้านข้างของแท่นพระอาสน์มีรูปธรรมจักร์ และกวางหมอบ 2 ตัว

ด้านซ้ายบน ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ณ สังกัสสะ พระพุทธเจ้าครองจีวรห่มคลุมมีริ้วประทับยืนมีประภามณฑลแผ่นหลัง พระหัตถ์ซ้ายจับชายจีวรยกขึ้นระดับเอว พระหัตถ์ขวาปล่อยลงหงายฝ่าพระหัตถ์ เบื้องซ้ายของพระองค์ฯ มีเทวดาตัวเล็ก คือ พระอินทร์ ยืนถือกลดด้ามยาวยกขึ้นด้านหลังของพระองค์

ด้านขวาล่าง ปางรับบาตรจากพญาวานร ณ เวสาลี พระพุทธเจ้าครองจีวรห่มคลุมมีริ้วประทับนั่งขัดสมาธิอุ้มบาตรบนช่อดอกบัวหงายบัวคว่ำมีหมอนพิง หลังพระเศียรมีประภามณฑลกลม ด้านข้างมีพญาวานรคุกเข่าถวายรังผึ้ง

ด้านขวาตรงกลาง ปางยมกปาฏิหาริย์ ปราบเดียรถีย์ ฌ สาวัตถี รูปพระพุทธเจ้าครองจีวรห่มคลุมมีริ้วประทับนั่งบนแท่นมีประภามณฑลแผ่นหลัง ทรงห้อยพระบาท พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นระดับอก จีบนิ้วพระหัตถ์ดั่งปางปฐมเทศนา จะต่างก็ตรงที่ว่าด้านข้างของแท่นพระอาสน์มีเดียรถีย์นั่งมึนงง

ด้านขวาบน ปางปราบช้างนาฬาคีรี ณ ราชคฤห์ รูปพระพุทธเจ้าครองจีวรห่มคลุมมีริ้วประทับยืนมีประภามณฑลแผ่นหลัง พระหัตถ์ซ้ายจับชายจีวรยกขึ้นระดับเอว พระหัตถ์ขวาปล่อยลงเหนือช้างตัวเล็กๆ คือนาฬาคีรีกำลังหมอบแทบพระบาทของพระพุทธเจ้า

ด้านบนสุด ปางปรินิพพาน ณ กุสินารา รูปพระพุทธเจ้าครองจีวรห่มคลุมมีริ้วประทับบรรทมตะแคงเศียรบนพระเขนยกลมยาว โดยหันพระเศียรไปทางเบื้องซ้าย พระหัตถ์ขวาวางช้อนบนพระเขนยรองพระเศียร พระหัตถ์ซ้ายวางแนบไปกับพระวรกาย เบื้องหลังมีสถูปสัญลักษณ์ปรินิพพาน กระนาบซ้ายชวาด้วยต้นสาละสองข้าง ปลายพระบาทด้านข้างมีพระอานนท์ หรือ พระมหากาศยปะนั่งคุกเข่าพนมมือ

ด้านหลัง สลัก อักขระสิทธรรม (Siddham script) จารึกคาถาแสดงพระอริยสัจ (Buddhist creed) อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่พระ อัสชิ ปัญจวัคคีย์องค์หนึ่งได้เคยแสดงแก่ พระสารีบุตร ก่อนออกบวช ความว่า เย ธมฺมาฯ ....

จาก พระพุทธรูปองค์นี้ จารึก อ่านเป็นภาษาสันสกฤต
เย ธมฺมา เหตุปปฺภวา เหตุ เตสํ ตถาคตา หยาวาดัท เตสญฺ จโย นิโรธา เอวํ วาที มหาสมณา

แต่พุทธศาสนาในประเทศไทย พม่า ลาว เขมร และ ประเทศศรีลังกา จะเขียนเป็นภาษาบาลี จึงพบเห็นเป็นดังนี้
เย ธมฺมา เหตุปปฺภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต เตสญฺ จโย นิโรโธ เอวํ วาที มหาสมโณ

ความว่า ธรรมทั้งหลาย มีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตได้ตรัสถึงเหตุเหล่านั้น เมื่อสิ้นเหตุเหล่านั้น จึงดับทุกข์ได้ พระมหาสมณะมีวาทะตรัสสอนเช่นนี้เสมอ

นักปราชญ์ตะวันตกสันนิษฐานว่า การสลักคาถาแสดงพระอริยสัจบนพระพุทธรูปนี้ เพื่อเพิ่มพลังความศักดิ์สิทธิ์แก่การสื่อสารเผยแพร่ศาสนาพุทธ
The Buddha has explained the cause of all things that arise from a cause. He, the Great Monk, has also explained their cessation. When this formula was inscribed on a sculpture it was thought to empower the sculpture as a transmitter of the Buddha's teaching.

พระพุทธรูปศิลาเก่าแก่ของอินเดีย ของแท้ หายากมาก จากแหล่งกำเนิดเดิม แดนพุทธภูมิ
สภาพขององค์พระ สวยได้สัดส่วน อินเดียโบราณแท้ สุดยอดหายาก ในโลกนี้มีให้เห็นไม่กี่องค์ ส่วนใหญ่ตั้งแสดงและเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถาน

ราคา 12,000,000 บาท


          ประเทศอินเดียในยุคกลางราวพุทธศตวรรษที่ 14 ปลายยุคคุปตะ ต้นยุคปาละ ผู้นำทางศาสนาพุทธมีความคิดและห่วงอนาคตของศาสนาจะเสื่อมสูญไม่มีผู้คนในยุคต่อไปในอนาคตรู้จัก จึงเกิดความคิดที่จะสร้างถาวรวัตถุ เพื่อการสืบค้นและรับรู้ของผู้คนในอนาคต ..... ในขณะเดียวกัน ก็เกิดความคิดที่จะกำหนดให้มีพระพุทธเจ้าอนาคต (องค์ถัดจากนี้ไป) จึงกำหนดให้มีพระโพธิสัตว์ไมตรีย์ (พระศรีอริยะเมตไตรย์) ถือก้านดอกอ้อ มีรูปเจดีย์บนศิราภรณ์ เพื่อเตรียมตัวมาเป็นพระพุทธเจ้าองค์ถัดไปเมื่อสิ้นศาสนาพุทธ ให้เป็นพระโพธิสัตว์องค์ที่สอง ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมีพระโพธิสัตว์อยู่แล้วหนึ่งองค์ คือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปัทมะปานีถือก้านดอกบัว มีรูปพระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิเหนือศิราภรณ์ ซึ่งในคติของเถรวาท (หินยาน) ก็คือพระพุทธเจ้าก่อนที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าดั่งในนิทานชาดก แต่คติของมหายาน พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรคือพระผู้ปกป้องคุ้มครองดูแล นำทางมนุษย์ไปสู่สรวงสวรรค์

          คติความเชื่อนี้ถือเป็นสากล ทุกศาสนาในโลกนี้ล้วนมีความเชื่อว่า โลกในอนาคตจะมีศาสดาองค์ใหม่มาโปรด เนื่องจากผู้คนออกห่างจากความเชื่อไม่ศรัทธาศาสดาองค์เดิม ศีลธรรมเสื่อมทราม เช่น ศาสนาฮินดู-พราหม์จะมีพระวิศณุ (พระนารายณ์) อวตารปางใหม่ ศาสนาซิกข์จะมีกูรุองค์ใหม่ ศาสนาเชนจะมีธิทังกรองค์ใหม่ ศาสนาคริสต์จะมีพระเยซูองค์ใหม่ ศาสนาอิสลามจะมีพระโมฮัมมัดองค์ใหม่ ทุกศาสนาล้วนมีแนวคิดตรงกันในเรื่องนี้

          ในขณะเดียวกัน ต้องการรวบรวมวิธีอธิบายประวัติความเป็นมาของพระพุทธเจ้า องค์พระศาสดาของศาสนาพุทธ ให้กระชับกระทัดรัดเพื่อให้เข้าใจง่าย เพราะก่อนหน้านั้น ภาพแกะสลักเพื่อบรรยายชีวิตพระพุทธเจ้านั้นมีมาก่อนแล้ว จากสมัย สุงคะ บราหุต คุชชาน คันทาระ และคุปตะ ทว่าแกะสลักศิลาแยกกันเป็นตอนๆ หลายชิ้น หรือไม่ก็ใหญ่เทอะทะ ด้วยเหตุผลเหล่านี้รูปแบบพระพุทธรูป 8 ปางจึงได้อุบัติขึ้น คือ เป็นชุดประวัติแบบย่อ (Buddha life in Epitome) ของศาสดาผู้ให้กำเนิดพุทธศาสนา ทุกเหตุการณ์แกะสลักอยู่ในชิ้นเดียวกัน และสลักอักขระคาถา เย ธมฺมา ฯลฯ เพื่อผู้คนในอนาคตหากได้พบถาวรวัตถุเหล่านี้ และได้อ่านพระคาถาบทนี้ย่อมจะเข้าใจและรับรู้ได้ว่า เมื่อก่อนโน้นในอดีต ได้เคยมีพระพุทธเจ้าจุติมาเผยแพร่พระธรรมแก่มวลมนุษย์เพื่อแก้เหตุแห่งทุกข์ก่อนแล้ว องค์ขนาดใหญ่จะประดิษฐานในอาราม องค์ขนาดเล็กสำหรับพกพา ในขณะเดียวกันเหล่าธรรมทูตฯ ที่ออกไปเผยแพร่ศาสนาพุทธในต่างแดน มักนำพระพุทธรูปศิลา 8 ปางขนาดเล็กติดตัวไปด้วย เพื่อแสดง นำเสนอ และเป็นแม่แบบสำหรับสร้างพระพุทธรูป ในอริยาบทและปางต่างๆตามแบบแผนได้อย่างถูกต้องแก่หมู่ชนในท้องถิ่นเหล่านั้น ดังจะเห็นว่ามีการพบพระพุทธรูป 8 ปาง องค์กระทัดรัดในต่างแดน อาทิ ทิเบต จีน ไทย พม่า ศรีลังกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่างชาวทิเบตนิยมเขียนเป็นภาพสำหรับแขวน (Thibetan Thangka paintings) จารึกคาถา เย ธมฺมาฯ ไว้หลังภาพเขียน ส่วนช่างชาวพม่านิยมสร้างและจำลองในรูปแบบศิลปะพม่าแบบพุกามแกะจากหินอ่อนสีขาว แต่ชาวอาราคัน (พม่าเรียกชาวอาราคันว่ายะไข่) นิยมแกะจากหินดำบาซอลท์เนื้อละเอียดรูปแบบศิลปะปาละเสนะ ซึ่งเป็นที่นิยมในเบงกอลขณะนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องสวมเครื่องประดับ



          อักขระอินเดียโบราณมีพัฒนาการมาจากอักขระพราหมณ์มี (Brahmi) แล้วพัฒนาต่อมาเป็นอักขระคุปตะ (Gupta) จากนั้นต่อมาได้ถูกพัฒนาออกเป็นสองสาย คืออักขระสาราดา (Sarada) นิยมใช้ในดินแดนแคชเมียร์และภาคตะวันตกของอินเดีย และอักขระสิทธรรม (Siddham) นิยมใช้ในภาคเหนือของอินเดีย ซึ่งอักขระทั้งสองนี้มีความคล้ายคลึงกันมาก แตกต่างเล็กน้อยที่พยัญชนะบางตัวเท่านั้น จากอักขระสิทธรรมนี้ได้พัฒนามาเป็นอักขระเทวะนาครี (Devanagari) ปัจจุบันนี้เป็นภาษาเขียนทางการของประเทศอินเดีย ในขณะเดียวกันชาวทิเบตก็นำอักขระสิทธรรมไปปรับใช้เป็นอักษรประจำชาติของตน แม้อักขระสิทธรรมจะมีอายุกว่าพันปีแต่ก็ยังมีศาสนาพุทธนิกาย Shingon Buddhists ในประเทศญี่ปุ่น ใช้อักขระสิทธรรมเป็นหลักสำหรับเขียนมนต์คาถา และบันทึกคัมภีร์สันสกฤตของศาสนาพุทธ อักขระสิทธรรมนี้ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า Bonji ในประเทศจีนมีพระสูตรและคัมภีร์โบราณของพุทธศาสนาจำนวนมากเขียนด้วยอักขระสิทธรรม ชาวจีนเรียกอักษรนี้ว่า Siddhamatrka

          คำว่าสิทธรรม (Siddham) มาจากสันสกฤต แปลว่า สมบูรณ์แบบ


พระพุทธรูปศิลา 8 ปาง คู่แฝดเก่าแก่จากแหล่งผลิตช่างแกะสลักเดียวกัน ด้านหลังสลักคาถาฯ ขนาด กว้าง 18.8 ซ.ม. สูง 28.5 ซ.ม. ฐานหนา 9 ซ.ม.
เก็บรักษาอยู่ที่ Asean Civilisations Museum ประเทศสิงคโปร์ Accession No. 2014-00581


          ในประเทศไทย มีพระพุทธรูป 8 ปางเช่นว่านี้อีกหนึ่งองค์ เนื้อหินลงรักปิดทอง สูง 15.5 ซ.ม. ด้านหลังสลักคาถา เย ธมฺมา ฯลฯ (อินเดียเดิม) อักขระ สิทธรรม (Siddham-Inscription) แบบเดียวกัน พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุทธยา เป็นศิลปะอินเดียสมัยปาละเช่นเดียวกัน เข้าใจว่าน่าจะสร้างมาจากแหล่งเดียวกัน ปัจจุบันนี้ตั้งแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร




ติดต่อ สั่งซื้อ กลับไปหน้าหลัก