เหรียญที่ระลึกการทูต พระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 - โกษาปาน

          ออกญาโกษาปาน ดำรงตำแหน่งเป็นพระวิสูตรสุนทร พร้อมด้วย ออกหลวงกัลยา ราชไมตรี ออกขุนศรีสวรรค์วชา และผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง รับการแต่งตั้งจากพระนารายณ์มหาราช ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับ ประเทศฝรั่งเศส ได้เดินทางไปกับเรือฝรั่งเศสเมื่อ ธันวาคม พ.ศ. 2228 เข้าเฝ้า พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 และเดินทางกลับวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2230

          ราชสำนักฝรั่งเศสได้ผลิตเหรียญที่ระลึก เนื้อเงิน และ บรอนซ์ สองแบบ คือ แบบ 1 ขนาด 72 ม.ม. และ แบบ 2 ขนาด 41 ม.ม. เพื่อเป็นเกียรติแก่การเจริญสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศฝรั่งเศสและสยาม เหรียญที่ระลึกนี้ ออกแบบและแกะสลักโดยนักแกะสลักสองนาย ได้แก่ Joseph Roettiers ใช้ชื่อย่อ R และ Jean Mavger ใช้ชื่อย่อ J.MAVGER.F.


คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่


แบบ 1 เหรียญฯ แท้ดั้งเดิม เนื้อเงิน ขนาด 71.58 ม.ม. น้ำหนัก 199.4 กรัม
ด้านหน้า ฉายาลักษณ์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผินพระพักตร์เบื้องขวา ทรงชุดเกราะแบบโรมัน ใต้พระพาหามีอักษร R ตัวใหญ่บาง
ด้านหลัง คณะทูตสยามสามนายเข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน์แก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงประทับเหนือพระที่นั่งยกพื้นสูง ผนังรูปปั้นเทวดายืน ด้านล่างของเหรียญฯ มีอักษร Mavger.F.

          ตั้งแต่ พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา โรงกษาปณ์ Paris Mint ได้นำเหรียญฯ แท้ดั้งเดิม หลากหลายพิมพ์ หลายแบบ หลายรุ่น ของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ผู้สร้างพระราชวังแวร์ซายส์ ผลิตใหม่เพื่อการค้าเป็นเหรียญที่ระลึก (Souvenir) อย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้เข้าชมและนักท่องเที่ยว มีขายที่ร้านค้าของที่ระลึกในพระราชวังแวร์ซายส์ ประเทศฝรั่งเศส

เหรียญฯ ผลิตใหม่เหล่านี้ ลายเส้นต่างๆ ขาดความคมชัด สร้างพิมพ์ใหม่โดยวิธี สำเนา (Copy) จากเหรียญเก่าของเดิม เก็บรักษาใน Bibliotheque National de France กลึงแต่งขัดเกลาลบรอยไม่พึงปรารถนา หนึ่งในเหรียญที่ระลึกเหล่านี้ มีเหรียญที่ระลึกการเจริญสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศฝรั่งเศสและสยาม สองแบบ คือ ขนาด 72 มม. และ ขนาด 41 มม. ได้ผลิตเหรียญฯ พิมพ์ด้านหน้าต่างพิมพ์ต่างแบบจากพิมพ์แบบดั้งเดิม ส่วนพิมพ์ด้านหลังใช้แบบพิมพ์ดั้งเดิม มีหลากหลายแบบให้เลือกซื้อ

โดยทั่วไป เหล่าชาติตะวันตกจะตอกตัว R หรือ RR หรือ REPLICA ที่ด้านข้างของเหรียญ (Edge) อย่างไรก็ดี การผลิตเหรียญฯ ชุดใหม่นี้ ด้านข้างของเหรียญฯ (Edge) ผลิตใหม่เหล่านี้ จะตอกภาษาฝรั่งเศสระบุ เงิน บรอนซ์ .... ตรงตามเนื้อโลหะ เพื่อให้รับรู้ว่าเป็นเหรียญฯ ผลิตขึ้นใหม่ เนื้อโลหะชนิดใด ง่ายต่อการเข้าใจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เหรียญฯ ผลิตใหม่เหล่านี้ ไม่เข้าข่ายผลิตใหม่ทำซ้ำ (Restrike) เพื่อการสะสม เนื่องจากไม่มีการควบคุมและจำกัดจำนวนผลิต เข้าข่ายผลิตเพื่อการค้า (Reproduction)

แบบ 1 เหรียญฯ ผลิตใหม่ทำซ้ำ (Restrike) เนื้อเงิน และ บรอนซ์ กะไหล่เงิน ทอง ขนาด 72 ม.ม.
ด้านหน้า ฉายาลักษณ์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผินพระพักตร์เบื้องขวา ทรงชุดเกราะแบบโรมัน ใต้พระพาหามีอักษร R ตัวใหญ่บาง

เหมือนพิมพ์แท้ดั้งเดิม แบบ 1 ทุกประการ จากการทำสำเนา (Copy) หากพิเคราะห์ปลายเส้นผมและเส้นบางๆ ทั้งหลาย จะพบว่า ไม่มีลายเส้นละเอียดเท่า จุดสังเกต วงกลมวงนอกรอบตัวเหรียญฯ ทั้งสองด้านของเหรียญฯ แท้ดั้งเดิม มีเส้นวงกลมบางๆ ช้อนกันหลายเส้นทั้งพิมพ์ด้านหน้าและพิมพ์ด้านหลัง แต่เหรียญฯ ทำใหม่นี้ เส้นวงกลมวงนอกรอบตัวเหรียญฯ ด้านหน้าและด้านหลังมีขนาดความกว้าง และจำนวนเส้นวงกลม ต่างกัน จากการเกลาแต่งแม่พิมพ์ เหรียญฯ พิมพ์ด้านหน้าลักษณแบบนี้ ต้องยึดภาพ แบบ 1 เหรียญฯ แท้ดั้งเดิม เป็นมาตรฐานเปรียบเทียบจับผิด

ด้านหลัง คณะทูตสยามสามนายเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงประทับเหนือพระที่นั่งยกพื้นสูง ผนังรูปปั้นเทวดายืน ด้านล่างของเหรียญฯ มีอักษร Mavger.F. สำเนา (Copy) จากพิมพ์เดียวกันกับด้านหลังเหรียญฯ แท้ พิมพ์ดั้งเดิมแบบ 1 ต่างที่ขาดลายเส้นละเอียด

++++++++ เหรียญฯ พิมพ์นี้แทบจะเหมือนเหรียญฯ แท้ ทุกประการ แตกต่างที่ลายละเอียดปลีกย่อย แยกแยะลำบาก หากไม่มีการตอกทำเครื่องหมายใดๆ ที่ด้านข้างของตัวเหรียญ (Edge) เพื่อบ่งบอกให้รับรู้ว่า เป็นเหรียญทำใหม่จากผู้ผลิต จำต้องตรวจสอบน้ำหนัก วัดขนาด ตรวจดูรอยปาด ขัด ตะไบ ด้านข้างของตัวเหรียญ (Edge) โดยรอบ มีการตกแต่ง ขจัดเครื่องหมายใดๆ ..... ++++++++

แบบ 1 เหรียญฯ สลับพิมพ์ด้านหน้า ผลิตใหม่ทำซ้ำ (Restrike) เนื้อเงิน และ บรอนซ์ กะไหล่เงิน ทอง ขนาด 72 ม.ม.
ด้านหน้า ฉายาลักษณ์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผินพระพักตร์เบื้องขวา ทรงชุดเกราะแบบโรมัน พระพาหาเป็นแบบหน้าสิงโต ใต้พระพาหามีอักษร R ตัวเล็กนูนหนา
ด้านหลัง คณะทูตสยามสามนายเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงประทับเหนือพระที่นั่งยกพื้นสูง ผนังรูปปั้นเทวดายืน ด้านล่างของเหรียญฯ มีอักษร Mavger.F. พิมพ์เดียวกันกับด้านหลังเหรียญฯ แท้ พิมพ์ดั้งเดิมแบบ 1

          เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 สถานทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย ได้มอบเหรียญที่ระลึก เนื้อเงิน แบบ 1 ผลิตใหม่ทำซ้ำ (Restrike) พระพาหาเป็นแบบหน้าสิงโต จำนวน 1 เหรียญ แก่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ เมืองลพบุรี เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 300 ปี ความสัมพันธ์ ไทย-ฝรั่งเศส

แบบ 1 เหรียญฯ สลับพิมพ์ด้านหน้า ผลิตใหม่ทำซ้ำ (Restrike) เนื้อเงิน และ บรอนซ์ กะไหล่เงิน ทอง ขนาด 72 ม.ม.
ด้านหน้า ฉายาลักษณ์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผินพระพักตร์เบื้องขวา ทรงชุดเกราะเหล็กแบบยุโรปยุคกลาง พระพาหาเป็นแบบโค้งเรียบ ใต้พระพาหามีอักษร J.MAVGER.F.
ด้านหลัง คณะทูตสยามสามนายเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงประทับเหนือพระที่นั่งยกพื้นสูง ผนังรูปปั้นเทวดายืน ด้านล่างของเหรียญฯ มีอักษร Mavger.F. พิมพ์เดียวกันกับด้านหลังเหรียญฯ แท้ พิมพ์ดั้งเดิมแบบ 1


คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่


แบบ 2 เหรียญฯ แท้ดั้งเดิม เนื้อบรอนซ์ ขนาด 41.18 ม.ม. น้ำหนัก 37.92 กรัม
ด้านหน้า ฉายาลักษ์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผินพระพักตร์เบื้องขวา
ด้านหลัง คณะทูตสยามสามนายเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงประทับเหนือพระที่นั่งยกพื้นสูง ผนังชายผ้าม่านเสมือนปักธง

แบบ 2 เหรียญฯ แท้ดั้งเดิม เนื้อบรอนซ์ ขนาด 41 ม.ม. น้ำหนัก 30.08 กรัม
ด้านหน้า ฉายาลักษ์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผินพระพักตร์เบื้องขวา ใต้ลำพระศอ มีอักษร J.MAVGER.F.
ด้านหลัง คณะทูตสยามสามนายเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงประทับเหนือพระที่นั่งยกพื้นสูง ผนังชายผ้าม่านเสมือนปักธง

แบบ 2 เหรียญฯ สลับพิมพ์ด้านหน้า ผลิตใหม่ทำซ้ำ (Restrike) เนื้อบรอนซ์ ขนาด 41 ม.ม. น้ำหนัก 32.57 กรัม
ด้านหน้า ฉายาลักษณ์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผินพระพักตร์เบื้องขวา ด้านหน้าลำพระศอ มีปมพระศก ใต้ลำพระศอมีอักษร J.MAVGER.F.
ด้านหลัง คณะทูตสยามสามนายเข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน์แก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงประทับเหนือพระที่นั่งยกพื้นสูง ผนังชายผ้าม่านเสมือนปักธง พิมพ์เดียวกันกับด้านหลังเหรียญฯ แท้ พิมพ์ดั้งเดิมแบบ 2

แบบ 2 เหรียญฯ สลับพิมพ์ด้านหน้า ผลิตใหม่ทำซ้ำ (Restrike) เนื้อบรอนซ์ ชุบเงิน ขนาด 41 ม.ม. น้ำหนัก 31 กรัม
ด้านหน้า ฉายาลักษณ์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผินพระพักตร์เบื้องขวา ด้านหน้าลำพระศอ มีปมพระศก ใต้ลำพระศอ รอยขัดลบตัวอักษรพอเห็นลางๆ J.MAVGER.F.
ด้านหลัง คณะทูตสยามสามนายเข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน์แก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงประทับเหนือพระที่นั่งยกพื้นสูง ผนังชายผ้าม่านเสมือนปักธง พิมพ์เดียวกันกับด้านหลังเหรียญฯ แท้ พิมพ์ดั้งเดิมแบบ 2

เหรียญฯ ที่ระลึกทำใหม่ของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ทุกพิมพ์ทุกแบบ มีขายเกลื่อนบนอินเตอร์เน็ต



กล่องงาช้างแกะสลักภาพพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 รับคณะทูตสยาม


          กล่องงาช้างทรงกลม สมบ้ติของ British Museum, London. รหัส 1941.1201.1 เส้นผ่าศูนย์กลาง 8.2 ซ.ม. แกะสลักดังภาพด้านหน้าของเหรียญที่ระลึกแบบ 1 เป็นอนุสรณ์คณะทูตสยามในปี พ.ศ. 2229
ฝาครอบด้านบน แกะสลักภาพพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โปรดเกล้าให้คณะราชทูตสยามเข้าเฝ้า ณ ห้องกระจก พระราชวังแวร์ซายส์
ตัวกล่อง แกะสลักภาพคนภายในกรอบพวงพฤกษา คั่นด้วยรูปหน้ากากพิศดาร
ด้านล่างของกล่อง แกะสลักรูปสัตว์และผลไม้

-------------------


          อนาคตอันใกล้นี้ ทุกประเทศในโลกจะเข้าสู่ระบบ สังคมไร้เงินสด (Cashless society) คือ จะไม่มีการผลิตเหรียญกษาปณ์เพื่อใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โรงกษาปณ์ทั้งหลายคงไม่ยอมอยู่นิ่ง จะหันมาผลิตเหรียญที่ระลึกในโอกาสต่างๆ เพื่อการสะสม ดังนั้น เหรียญฯ ที่เคยหายาก มีชื่อเสียง หรือ เหรียญฯ ต้นแบบไม่เคยผลิตสู่การหมุนเวียน อาจจะถูกนำแม่พิมพ์เดิมมาผลิตทำซ้ำในรูปของเหรียญทองคำ เหรียญเงิน เพื่อการสะสม จึงไม่แปลกที่ขณะนี้ มีนักสะสมเหรียญกษาปณ์หน้าใหม่จำนวนมากต่างขวนขวายหาเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน และ เหรียญที่ระลึกในวาระโอกาสต่างๆ ส่วนนักสะสมมืออาชีพทั่วโลกกลับหันไปสะสม เหรียญฯ โบราณที่ตอกด้วยมือ เพื่อหลีกเลียงเหรียญฯ ทำซ้ำ (Restrike) ในอนาคต ทำให้เหรียญฯ โบราณโดยรวมมีราคาซื้อขายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว


**********


          ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ท่านสามารถนำข้อเขียน เนื้อหา ไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องแจ้งแต่ประการใด ส่วนภาพประกอบในสาระน่ารู้เหล่านี้ได้คัดลอกมาจาก Internet Public Domains บางภาพอาจมีลายน้ำต้องคงไว้เป็นตัวอ้างอิงถึงที่มา และต้องให้ Credit แก่เจ้าของภาพ และ www.dandinth.com เพื่อประโยชน์ต่อการสืบค้น

คลิกที่นี่ เพื่อกลับไปเริ่มต้นอ่านใหม่

กลับไปหน้าหลัก